คดไม่คุ้ม
เมื่อครั้งพุทธกาล ณ หมู่บ้านไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีพ่อค้าโกงคนหนึ่ง เขาหาเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วยการโกงด้วยตาชั่ง วิธีการคือเอาข้าวเปลือกปนแกลบและเอาฟ่อนข้าวสาลีเคล้าด้วยดินแดงทำให้หนักกว่าเดิม ปนกับข้าวสาลีแดงแล้วขาย
เมื่อพ่อค้าโกงผู้นี้ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรตในดงไฟไหม้ เขาใช้มือทั้งสองกอบเอาแกลบแห่งข้าวสาลีที่ลุกโพลงด้วยผลกรรม แล้วเกลี่ยลงบนศีรษะของตนเองเสวยทุกข์เป็นอันมาก
(อรรถกถาภุสเปตวัตถุ)
เมื่อครั้งพุทธกาล หญิง ๔ คน ในกรุงราชคฤห์ ทำการค้าขายเนยใส น้ำผึ้ง น้ำมัน และข้าวเปลือก เป็นต้น ด้วยเครื่องนับโกง รวบรวมโภคทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพในทางมิชอบ
เมื่อหญิงเหล่านั้นตายแล้ว ก็ไปเกิดเป็นนางเปรต อยู่ที่หลังคูนอกเมือง ในเวลากลางคืน นางเปรตเหล่านั้นถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ร้องบ่นเพ้อด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัวว่า
พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้ โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง คนอื่นพากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น แต่พวกเรากลับมีส่วนแห่งทุกข์ใหญ่ อันเนื่องมาจากกำเนิดเปรต เพราะพวกเราไม่ได้ทำสุจริตอะไร ๆ ไว้ ทำแต่ทุจริต
(อรรถกถาโภคสังหรณเปติวัตถุ)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. พ่อค้าชายหญิงเหล่านี้คงถือคติว่า “ไม่โกงไม่รวย” จึงหาเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วยการคดโกง เมื่อตายแล้ว บาปกรรมที่ทำได้ส่งไปบังเกิดเป็นเปรต จัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม
๒. ในโลกแห่งเปรตมีแต่ความหิวกระหาย มีแต่ความทุกข์ทรมาน ทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตช่วยอะไรไม่ได้เลย จะนำติดตัวมาก็ไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นบริโภคใช้สอย
๓. ถ้าพวกเขารู้ว่าจะต้องทนทุกข์ที่เผ็ดร้อนถึงปานนี้ คงไม่กล้าโกงเป็นแน่ เพราะไม่คุ้มเลย
๔. ท่านผู้รู้กล่าวว่า ทุกคนต้องตายในเวลาไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางที่ชั่วช้าน่ารังเกียจหรือทารุณโหดร้าย เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า