เราอยากได้ของดี แต่ทำไมไม่ได้ตามปรารถนา
       พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ท่านตรัสรู้  คือ  วิธีแก้ปัญหาในชีวิตมนุษย์ทุกคน  เพราะพระพุทธเจ้า ท่านเห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีปัญหาชีวิตด้วยกันทั้งนั้น  การที่มนุษย์ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาชีวิตได้  มีปัญหาชีวิตทับถมซับซ้อนกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน  ถือว่าเป็นวิบากกรรมของมนุษย์  เพราะวิบากกรรมของมนุษย์แต่ละคน  เกิดจากมนุษย์ต่างก็ใช้ความคิดเห็นของตนเองไปสร้างปัญหา  แล้วเอาความคิดเห็นของตัวเองไปแก้ปัญหา  ผลคือมันก็แก้ปัญหาจากที่ผิดไปสู่สิ่งที่ผิดตลอดเวลา
       พระพุทธเจ้าท่านเห็นประเด็นอย่างนี้  เห็นว่ามนุษย์ทุกคนต้องการที่จะแก้ปัญหาชีวิตให้กับตัวเองทั้งสิ้น  เพราะทุกคนเกิดมาเพื่อหนีทุกข์ไปหาสุข  คือ  อยากได้ของดีให้กับตัวเองทั้งนั้น  แต่ว่าไม่มีมนุษย์คนไหนได้ของดีตามที่ตั้งใจไว้้  จุดนี้คือจุดที่พระพุทธเจ้าเห็นว่าผิดปกติของธรรมะ  หรือ  ธรรมชาติทั่วไป  ท่านก็มองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นธรรมชาติ  ล้วนมีเหตุปัจจัย
       ธรรมชาติทั้งหมดเกิดจากเหตุปัจจัย มาประชุมปรุงแต่งกันชั่วคราว  แล้วแตกสลาย  เหตุปัจจัยที่มาประชุมกันชั่วคราวนั้นมันหาที่สิ้นสุดไม่ได้  แต่ละเหตุก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันต่อเนื่องกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด  อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติที่เราต้องเข้าใจ  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่เข้าใจธรรมะ  หรือ  ธรรมชาติแล้ว  วิถีชีวิตของคนเหล่านั้นก็จะไม่ฝืนธรรมชาติ
       ที่มนุษย์ไม่ประสบความสำเร็จ  ก็เพราะว่า  มนุษย์เราไปฝืนธรรมชาติ  ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมชาติ  มีคำถามว่า  ทำไมเราต้องฝืนธรรมชาติ  ก็เพราะว่ามนุษย์มีความอยาก  ความปรารถนา มีความต้องการเป็นฐานความคิดอยู่ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนี้เราจึงเอาความคิดที่ประกอบด้วยความอยาก ความปรารถนาไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
       ถ้ามนุษย์ยังทำอย่างนี้อยู่ ก็หมายความว่า  มนุษย์จะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาชีวิตของตนเอง  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว  ท่านเห็นว่าโลกและจักรวาลนี้  เป็นธรรมชาติทั้งหมด  ธรรมชาติทั้งหมดเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมชั่วคราว  สิ่งนี้เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจได้  ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีต้นตอ  ต้นกำเนิด  ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยมาประชุมกันทั้งนั้น
       อย่างเช่นตัวเรานี้ก็มี  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  มาประชุมกันชั่วคราว  มีเหตุให้เกิดก็เกิด   ให้ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่  มีเหตุให้แตกสลายก็แตกสลาย  เพราะตัวเรานั้นมาประชุมกันชั่วคราว  ไม่ใช่มาประชุมกันถาวร  ด้วยการมาประชุมกันชั่วคราวนี้เอง  เป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจ  เราก็อยากให้ชีวิตเราอยู่ยงคงกระพัน  อายุมั่นยืนยาวไปหมื่นปี  แสนปี  แต่ว่าธรรมชาติของชีวิตเราในโลกนี้  ให้อายุมาเพียง  ๑๐๐ บวกลบ ๒๐ เท่านั้น  มันก็เลยเป็นความขัดแย้ง  เพราะเราต้องการอีกอย่าง  แต่ธรรมชาติกลับให้มาอีกอย่างหนึ่ง  มันสวนทางกัน
       ในเมื่อความต้องการกับการกระทำของเราสวนทางกัน  มันทำให้เกิดปัญหาชีวิต  เพราะการกระทำกับความต้องการมันเสียดสีกัน  เพราะเราอยากหนีทุกข์ไปหาสุข  แต่ว่าการกระทำของเราหนีทุกข์ไปหาทุกข์  ผลการกระทำออกมามันไม่เป็นไปตามความอยาก  เพราะฉะนั้นความอยากของเรา  อยากได้ดี  อยากมีสุข  อยากประสบความสำเร็จ  แต่การกระทำของเรานั้น  ไปทำสิ่งไม่ดีก็ได้สิ่งที่ไม่ดีเป็นผลตอบแทนมา  เหตุที่เราทำอย่างนี้  ก็เพราะว่า เราไม่เข้าใจธรรมะ  หรือ ธรรมชาติ
       ฉะนั้นการเข้าใจธรรมะ  หรือ ธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต  พระพุทธเจ้าเน้นหนักให้เราเข้าใจธรรมชาติของตัวเราเอง ท่านบอกว่าตัวคนเรานี้เป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุด  เพราะมีทั้งรูปธรรม และนามธรรม  คือ  ตัวเรามีกายและใจ  ใจเป็นธาตุรู้  กายเป็นธาตุไม่รู้  ถ้าใจอยู่กับร่างกายเรียกว่ามีชีวิต  ถ้าใจออกจากร่างกาย เรียกว่าเสียชีวิต  พระพุทธเจ้าท่านให้เราศึกษาเรียนรู้ตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปศึกษาโลกภายนอก  เพราะถ้าเรารู้จักตัวเราเองดีแล้ว ก็เท่ากับว่า  เรารู้จักโลกทั้งโลกและจักรวาลเลย  เพราะชีวิต คือ การศึกษาเรียนรู้  แต่ถ้าไม่เรียนรู้ก็จะมีข้อมูลผิด  เอาไปคิดผิด พูดผิดทำผิดต่อไป  แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะใส่ข้อมูลที่ถูกต้อง  ให้เป็นเหตุปัจจัยดี  ก็จะคิดดี  พูดดี  ทำดีได้  เมื่อเหตุปัจจัยดีมีครบเราก็พบสุขถาวรได้
       เราจะทำอะไร  เราต้องมีปัญญา  มีความรู้นำทางก่อน  จึงจะสำเร็จและปลอดภัย  คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้วางแนวทางการศึกษาไว้ให้พวกเรานำไปปฏิบัติก็คือ  ปริยัติ  ปฏิบัติ  ปฏิเวธ  ปริยัติ คือ  ให้มาศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสอนให้เข้าใจก่อน  เมื่อเข้าใจแล้วก็เอาพระธรรมคำสอนนั้นไปปฏิบัติ  แล้วปฏิเวธ  คือ  ผลแห่งการปฏิบัติ  ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้ด้วยตนเอง
       คนเราจะไปไหนมาไหน  จะทำอะไรต้องมีความรู้หรือปัญญาก่อน  ถ้าเรามีความรู้หรือปัญญา  นำหน้าการดำเนินชีวิตของเรา  เราก็เดินไปสู่เป้าหมาย หรือประสบความสำเร็จในชีวิต  แต่ถ้าไม่มีปัญญานำหน้าก่อน  ก็เหมือนคนตาบอด หรือคนเดินทางกลางคืนที่ไม่มีไฟส่องทาง  ฉันใดฉันนั้น
       เพราะเส้นทางชีวิตนี้มีขวากหนามอุปสรรคนานาประการ  ทั้งคน  ทั้งผีสาง  บาปกรรมก็มีมาขัดขวางเราตลอดเวลา  แต่บางสิ่งบางอย่างถ้าเราไม่ศึกษาเรียนรู้จริง ๆ  เราก็ไม่เข้าใจระบบของกระบวนการดำเนินชีวิตของเรา  ก็ถือว่าเป็นการดำเนินชีวิตแบบธรรมดาทั่วไป  คือ แบบสัตว์โลกไม่ต้องคิดอะไรมาก  คือ ทำตามที่เคยทำกันมาเป็นวัน ๆ  คือ  ไม่ได้คิดอะไร  ไม่ได้เห็นอะไร  ไม่ได้รู้อะไร  ที่ว่าสิ่งที่เราทำไปวันนั้น  มันมีผลดีผลเสียกับเราอย่างไร  มันนำพาชีวิตเราไปถึงเป้าหมายหรือไม่  เราไม่ได้คิดหรือคิดไม่ได้   อันนี้เป็นข้อจำกัดของมนุษย์ ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นข้อจำกัดที่ให้เรารู้เราเห็นในสิ่งที่รู้เห็นตามกันมาเท่านั้น  คือ  รู้เห็นตามข้อมูลที่เราใส่ไว้เท่านั้น
       มันน่าเสียใจว่าเราเป็นมนุษย์ เรามีตา ๒ ตา มีหู ๒ หู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ  แต่เราใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์จริง ๆ  แก่ตัวเราไม่ได้  ใช้ได้เพียงเป็นประโยชน์ตามที่เราต้องการเท่านั้น  ฉะนั้นตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เราก็ไม่มีประโยชน์สำหรับคนที่ไม่มีปัญญา  เพราะเราจะใช้ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ทำลายตัวเราเอง  เราไปไขว่คว้าหาสิ่งที่ทำร้ายตัวเองมาใส่ตัวเอง  อันนี้ก็คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เราใช้สร้างสุขไม่ได้  เมื่อใช้ไม่ได้ก็คือ  อวิชชา หรือความไม่รู้  คนเรามีความไม่รู้อยู่ที่ไหน  ก็อยู่ที่ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เรียกว่า  มืดบอดทางอินทรีย์ ๖
       แต่ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  มันมีหน้าที่ของมันอย่างที่บอก  ว่าใจเรามันเป็นธรรมชาติ  เป็นธาตุรู้จะออกไปรับกระทบสัมผัส  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ก็ทำตามใจที่ออกไปรับกระทบการสัมผัส  แต่ใจเราจะเอาอะไรออกไปรับการกระทบสัมผัส  อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน  คือใจเราก็เอาข้อมูลที่เราใส่ไว้นั่นนะ  ออกไปรับการกระทบสัมผัส  ตาเรา  หูเรา  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจเราก็รับรู้ตามข้อมูลนั้น  อันนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า  ไม่ใช่วิสัยของคนธรรมดาที่จะรู้ได้  พระพุทธเจ้าต้องตรัสรู้ถึงจะรู้ความจริงนี้
       เพราะฉะนั้นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเป็นเรื่องที่เราเข้าไม่ถึง  ภูมิปัญญาของเราบุคคลธรรมดาทั่วไปเข้าไม่ถึง  เมื่อเข้าไม่ถึงก็เห็นไม่ได้  รู้ไม่ได้  ทำไม่ได้ คือ ทำให้คนเรามีข้อจำกัด  ยิ่งทุกวันนี้ทางโลกทางวัตถุเจริญขึ้น  ใจคนเราก็แคบลงเรื่อย ๆ  คือ ปัญญาทางธรรมนี้แคบลง  ในที่สุดก็เป็นสัตว์โลกที่ไม่ได้พัฒนา เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไป  หนีทุกข์ไปหาสุข  กินนอนสืบพันธุ์ไปวันวันเท่านั้น  นั่งนอนรอวันแตกสลายหรือวันตาย  อันนี้เรามองตัวเราอย่างนี้ไม่เห็น  เพราะข้อมูลที่ให้ท่านมองอย่างนี้มันไม่มี  ถ้าไม่มีก็มองเห็นไม่ได้
       ถ้าเราไม่รู้อย่างนี้  เราก็จะปล่อยเวลาผ่านไปทุกวินาที  มันไม่มีค่าสำหรับตัวเราเลย  ที่ว่าไม่มีค่า  ก็เพราะเราไปหาสิ่งที่ไม่มีค่าใส่ตัวเราแล้วตัวเราจะมีค่าได้อย่างไร  คือเราไปตามหาความพอใจ ไม่พอใจมาใส่ตัวเรา  ไม่ได้หาความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  คือ  ไม่เที่ยงเกิดดับ  ท่านสรุปธรรมไว้ให้สำหรับคนที่มีปัญญาเอาความจริงมาใส่ตัวเอง  แต่เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ  เพราะเราไม่เคยคิดว่าตัวเรามันต้องมีอะไรดีกว่าปัจจุบันนี้  คือเหตุที่เราไม่รู้ว่า เราต้องดีกว่าปัจจุบันนี้ก็เพราะ  ความหลง  คือ  ความไม่รู้ หรือหลงตัวเอง  มีความรู้ตัวเองแคบ ๆ  รู้เฉพาะร่างกาย  รู้เฉพาะข้อมูลที่เขาให้รู้เท่านั้น  มันก็เลยไม่สามารถจะรู้จักตัวเองครอบคลุมทั้งหมด  เพราะตัวเรามี  ๒ ตัว  คือมีกายกับใจ  ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน  ถ้าเราไม่รู้ใจเรา  เราก็ไม่รู้จักตัวเราเลย  เพราะตัวเรานี่มันทำตามคำสั่งของใจ
       เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ส่วนที่เป็นใจ หรือส่วนที่เป็นนามธรรม ที่เรามองไม่เห็น  มันมีหรือไม่  ถ้าไม่มีใจเราก็ตายตายทันที  ฉะนั้นความสำคัญของใจเราถึงยิ่งใหญ่  ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราทั้ง ๒ ด้านนี้ เราก็จะไม่พัฒนาตัวเอง  เพราะเราไม่รู้จะเอาอะไรไปพัฒนาตัวเรา  เพราะเราไม่รู้จักตัวเรา  เราก็ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตัวเราต้องการอะไร
       ทุกคนต้องการหนีทุกข์ไปหาสุขถาวร  เรียกว่า  นิพพาน  คือ  การหมดเชื้อ  ไม่มีเกิด  ไม่มีแก่  ไม่มีเจ็บ  ไม่มีตาย  ที่เราต้องการคือ ลักษณะอย่างนี้  แต่ความรู้ความต้องการอย่างนี้มันไม่มีในใจเรา ที่เป็นพฤติกรรม  เราแค่รู้แต่ความรู้ที่เรามีอยู่  มันยังไม่เป็นพฤติกรรม  คือ  ไม่ได้รู้เห็นเป็นประจำ  มันก็เลยเป็นความรู้เฉย ๆ  ไม่มีพฤติกรรมของเราร่วมด้วย  พฤติกรรมนี้หละเขาเรียกว่า  มีความรู้ที่เรามี มันเป็นเพียงแค่ความรู้เท่านั้น  แค่ไม่มีพฤติกรรมของความรู้  คือ ไม่สามารถจะเอาความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ได้  ไม่มีพฤติกรรมของความรู้  ถ้าไม่มีพฤติกรรมของความรู้ ก็หมายความว่า  ความรู้ก็นอนอยู่เฉย ๆ  เพราะมันเอาไปใช้ไม่ได้  เมื่อเอาไปใช้ไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์
       เพราะคนเรามันมีความรู้ทางสร้างทุกข์ให้กับตัวเราเอง  คือ  เรามีข้อมูล  โลภะ  โทสะ  โมหะ  หรือพอใจ  ไม่พอใจ  ตามไม่ทัน  แปลว่า  หลง หรือโมหะ  อยู่ในใจเราทุกคน  แล้วมันก็มีพฤติกรรมของโลภะ  โทสะ  โมหะ  เคียงคู่ไปกับข้อมูล  แล้วก็เคียงคู่ไปกับตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ของเราเสมอ  หมายความว่า  ถ้าตาเราเห็นตามความพอใจ  ไม่พอใจบ่อย ๆ  พฤติกรรมการกระทำตามความพอใจ ไม่พอใจบ่อย ๆ  ก็ติดตาเรา  ถ้าหูเราใช้ความพอใจ  ไม่พอใจบ่อย ๆ เนือง ๆ  พฤติกรรมความพอใจไม่พอใจก็ติดหูเรา  จมูกถ้าเราใช้ความพอใจไม่พอใจบ่อย ๆ ผ่านจมูก  จมูกก็มีความชำนาญ หรือมีพฤติกรรมเกิดขึ้น  ถ้าเราใช้ความพอใจ ไม่พอใจผ่านทางกายสัมผัส  พฤติกรรมของการสัมผัสทางกาย  ก็เกิดขึ้นทางกายเรา  ถ้าเราใช้ความพอใจ ไม่พอใจในด้านความคิด  พฤติกรรมของความคิดก็เกิดขึ้นในใจเรา  เราจะเห็นได้ว่ามันจะมีข้อมูล และพฤติกรรมเคียงคู่กันอย่างนี้มาตลอดชีวิตเรา  แต่เราไม่รู้  ทีนี้ เราจะแก้ไขตัวเราอย่างไร
       เราต้องเข้าใจว่า  มันมีข้อมูลและพฤติกรรม ๒ ตัวนี้  ที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เราปฏิบัติธรรม  ไม่ให้เราพัฒนาตัวเอง  แต่ถ้าเราไม่รู้ ก็นั่ง นอนรอวันตายเท่านั้นไม่ทำอะไร  เพราะมันไม่รู้จะทำอะไร  อย่างบางคนก็ไปทำตามความพอใจไม่พอใจจนหมดแล้ว  วันนั้นไม่ทำอะไร นอนแผ่สองสลึงอยู่ที่บ้านเลย  ก็เพราะไปทำตามความพอใจ ไม่พอใจของตนเองหมดแล้ว  แล้วไม่รู้จะทำอะไร นี่คือเวลาที่เรานอนแผ่สองสลึงนั้นล่ะนั่งนอนรอวันตาย  ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เห็นว่า ในเมื่อสภาวะร่างกายจิตใจของแต่ละคนมันเป็นอย่างนี้  เราจะทำยังไงให้ชีวิตจิตใจเรามีค่ามากขึ้น  นั้นคือต้องมาเรียนรู้ตัวเองก่อนว่าคุณค่าของตัวเองมันอยู่ที่ไหน  คือ  อยากได้อะไร ใส่เหตุปัจจัยอย่างนั้นให้ครบ  คนสามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองให้หนีทุกข์ถาวรไปหาสุขถาวรได้
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้