ถ้าเรารู้ธรรมะหรือธรรมชาติ และรู้ว่าตัวฉันเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง สิ่งที่เราไปเกี่ยวข้องก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราว แล้วแตกสลาย ตัวฉันก็เหมือนกับสิ่งที่เราไปเกี่ยวข้อง เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราว แล้วแตกสลายเช่นกัน แต่อย่าลืมว่าธรรมชาติมันมี ๒ ด้าน มีทวิลักษณะ ถ้าไม่รู้อย่างนี้เราก็จะตามไม่ทัน
เพราะธรรมชาติเกิดจากเหตุปัจจัย มันมีเหตุปัจจัยทั้งบวกและลบ ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งที่มากระทบเราตลอดเวลา ถ้าเราเห็น ๒ ด้านอย่างนี้ มันจะทำให้ปัญญาเราเพิ่มขึ้น คือปัญญาเราจะแตกฉาน เราจะเห็นเหตุปัจจัยที่มาประชุมปรุงแต่งชั่วคราวแล้วแตกสลายของสิ่งนั้น ๆ
นี่คือสิ่งที่ช่วยให้เราขยายปัญญาของเรา เพิ่มเติมสิ่งที่มากระทบสัมผัส นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อน ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราวแล้วแตกสลาย นี่คือจุดจบของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการประชุมปรุงแต่งชั่วคราวมีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม
อกุศลธรรมก็มีเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราวเช่นกัน กุศลธรรมก็มีเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราวเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการที่เราเห็นธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จะเห็นเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ถ้ามันเป็นอกุศลธรรมมันก็จบที่อกุศลธรรมว่ามันเป็นอย่างนั้น เหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นกุศลธรรมเหตุปัจจัยมันเกิดขึ้นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ก็หมายความว่าเราเห็นความจริงชัดเจน ถูกต้องตามความจริงที่เป็นธรรมชาติ คือสิ่งที่มากระทบสัมผัสเราเป็นธรรมชาติ มีทวิลักษณะ เราต้องแยกแยะมันให้ได้ มันเป็นธรรมชาติเหมือนกัน แต่มันมี ๒ ลักษณะ
เมื่อเราเห็นธรรมชาติ ๒ ลักษณะนี้ เราก็แยกออกได้ว่า สิ่งไหนเป็นลบทำลาย และสิ่งไหนที่มันเป็นบวกสร้างสรรค์ เพราะตัวเราก็จะเอาธรรมชาติที่สร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบในการฝึกฝนตัวเอง ถ้าเราเห็นเหตุปัจจัยที่ว่ามันมาประชุมกันไม่ดี เราก็เห็นผลสรุปออกมามันไม่ดี เราก็จะไม่เอาสิ่งนั้นมาประกอบเป็นเหตุเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตของเรา เราก็จะรู้ความจริงอย่างนี้
ขณะนี้เราเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ยังต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอยู่ เราไม่ได้บวชอุ้มบาตรออกไปบัณฑบาตอย่างพระสงฆ์ ฉะนั้นเราต้องเข้าใจธรรมชาติทั้ง ๒ ด้าน คือ โลกียะ และโลกุตระไปพร้อม ๆ กัน เราจะทิ้งอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โลกียะมันก็ไม่ใช่โลกียะเฉย ๆ มันก็มีโลกุตระเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโลกุตระด้วย บางครั้งที่มีภาษาพูดกันว่า ความชั่วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราทำดี แล้วไอ้ความดีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราทำชั่ว ถ้าเราเรียนไม่จบ ทำยังไง เอาความดีเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำความชั่ว คือ ทำดีเกินไปจนเป็นที่เขม่นของคนอื่นเขามันไม่พอดี มันก็เกิดการทำชั่ว หมายความว่าก็ถูกต่อยถูกเตะเอา เราก็เตะต่อยสวนเขาไปอย่างนี้ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันได้ ถ้าเราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราถูกต้องจริง ๆ ทั้ง ๒ ด้าน ทางธรรมและทางโลกจะเกื้อกูลช่วยเหลือกัน
อย่างที่บอกว่า พระพุทธเจ้าให้อุบกสก อุบาสิกา มีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย พระที่เป็นสงฆ์ให้มีศีลเป็นที่พึ่งที่อาศัย เมื่อพระพุทธเจ้าให้เอาพระธรรมมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยในชีวิตของเรา เราก็เอาธรรมะหรือธรรมชาติ หรือความจริงมาพิจารณาอย่างแยบยล เราก็เห็นว่าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัยนี้ยิ่งใหญ่มาก
ทำไมถึงเอาธรรมมาให้อุบาสก อุบาสิกาใช้เป็นที่พึ่งที่อาศัย พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า อุบาสก อุบาสิกา จะเป็นฐานของพระพุทธศาสนาได้ดี ก็ต้องให้มีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย เพราะธรรมนี้มันกว้างขวาง มันสามารถพัฒนาได้ทั้งโลกียะและโลกุตระ ฉะนั้นพวกเราอุบาสก อุบาสิกา จึงต้องมีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ธรรมะหรือธรรมชาติ ก็คือความจริงของโลกและชีวิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือ ไม่เที่ยงเกิดดับ
ไม่เที่ยงเกิดดับ คือ กฎของธรรมชาติทั้งปวง ธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ลงในกฎธรรมชาติ ๒ กฎนี้ แต่เมื่อเรามีธรรม มีธรรมชาติ เราก็เห็นธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง ตอนนี้สำคัญว่า ธรรมชาติเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงแต่งชั่วคราว แล้วแตกสลาย ความสำเร็จไม่สำเร็จ ความร่ำรวย ความยากจน ความโง่ความฉลาด เป็นธรรมชาติ เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมปรุงชั่วคราว แล้วแตกสลาย ในเมื่อเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง เราเอาธรรมมาสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองก็ได้ มาสร้างความฉลาดหลักแหลมให้กับตัวเองก็ได้ เอามาทำอะไรก็สำเร็จ
เพราะถ้าเรารู้ธรรม และมีธรรมแล้วจะเอาธรรมมาใช้อย่างไรก็ได้ ในที่สุดเราก็จะเอาธรรมมาฝึกฝนตัวเอง จนสามารถดับทุกข์ได้ชาตินี้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ เราเป็นฆราวาสเราต้องเอาธรรมไปใช้ในการทำมาหากินเลี้ยงชีวิตเรา เลี้ยงชีวิตครอบครัว เผื่อแผ่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อยู่ที่ธรรมที่เรามี ถ้าเรามีธรรม มีข้อมูลสัญญาความจำเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพียงพอ เราก็จะเป็นยอดของอุบาสก อุบาสิกา คืออยู่ก็เป็นสุข ไปก็เป็นสุข เพราะเราใช้ปัญญา เพราะปัญญาแสวงหาสุขและหนีทุกข์ได้ ปัญญาสร้างความร่ำรวยให้เราได้ แล้วปัญญาก็สร้างความยากจนให้เราได้ ถ้าเราไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเราได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่พระพุทธเจ้ามอบให้กับเรา คือให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว ก็หมายความว่า ธรรมนั้นเป็นที่พึ่งของอุบาสก อุบาสิกา พึ่งตรงไหน คือ พึ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การเอาธรรมมาเป็นที่พึ่ง ในที่นี้ไม่ใช่เอาธรรมมาแขวนคอ แล้วเราจะพึ่งพระธรรม ต้องทำอย่างไร วิธีพึ่ง คือ เอาธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สั่งสอนไว้มาท่องจำ ท่องจนเป็นปกตินิสัย ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราเป็นประจำ ให้เป็นทั้งข้อมูลและพฤติกรรม เก็บไว้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราท่องจนเป็นปกตินิสัยประจำวัน เราจะได้พฤติกรรมตามทัน และเห็นตามจริง อันนั้นไปช่วยเหลือข้อมูลเรา ถ้ามีแต่ข้อมูลมันช้า ตามพฤติกรรมความพอใจ ไม่พอใจไม่ทัน แต่ถ้าเรามีข้อมูลและพฤติกรรมไม่เที่ยงเกิดดับ หรือความจริงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะนำพาชีวิตเราไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก แต่ถ้าเราไม่เอาความจริงมาตั้งไว้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะนำพาชีวิตเราไปถึงเป้าหมายได้ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะเราต้องฝ่าด่านความพอใจ ไม่พอใจ หรือนิสัยสันดาน ความพอใจไม่พอใจของเราตลอดเวลา
ก็อย่างที่บอกว่าความพอใจ ไม่พอใจของเรานี้ มันเกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัส ถ้ามากระทบสัมผัสทางตา ก็มีความพอใจไม่พอใจเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมันเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันก็เอามาเก็บเป็นสัญญาข้อมูลอีก มันเป็นวัฏจักรอย่างนี้ กรรมเก่าไปสร้างกรรมใหม่ กรรมใหม่มาเก็บเป็นกรรมเก่า วนเวียนหาที่สิ้นสุดไม่ได้
เมื่ออุบาสก อุบาสิกา มีปัญญาธรรมอยู่แล้ว ก็เอาปัญญาธรรมไปแสวงหาเหตุของปัจจัย ๔ เพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มาสนับสนุนตนเองให้ได้มาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง การไปปฏิบัติของพวกเราต้องอาศัยปัจจัยในการเดินทาง ต้องอาศัยปัจจัยในการอยู่ การกิน ระหว่างที่เรากำลังปฏิบัติธรรม ทั้งสองส่วนนี้ต้องเกื้อกูลสนับสนุนกันอย่างนี้ จึงจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้