ความพอดีของคนเราอยู่ตรงไหน

       คนเราทุกคนเกิดมาต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาความพอดีให้กับตัวเองตลอดเวลา  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในแต่ละชีวิต  ขาดไปบ้าง เกินไปบ้าง พยายามเสาะแสวงหาไปตลอดชีวิต  และก็ไม่มีใครพบความพอดีให้กับตนเองได้ง่าย ๆ  หรือไม่เคยพบเคยเห็นเคยรู้มาก่อนตลอดชีวิตของตนเองว่าความพอดีของตนเองที่ตนเองต้องการนั้นมันอยู่ที่ไหน  บางครั้งก็พบอยู่บ้างแต่ก็เป็นความพอดีชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  ไม่จีรังยั่งยืนตามที่คนเราต้องการและก็ไม่เข้าใจว่าความพอดีที่เราได้มาชั่วคราวนั้น  จริง ๆ แล้วมันใช่ความพอดีที่ชีวิตต้องการหรือไม่  แต่ละคนที่เกิดมาก็พยายามเสาะแสวงหามันต่อไป  บางครั้งชีวิตในชาตินี้ไม่พอที่จะแสวงหาความพอดีให้พบได้  เพราะแต่ละคนก็ใช้วิธีการของแต่ละคนเสาะแสวงหาความพอดีให้กับตนเองแตกต่างกันไป  แต่ก็ไม่มีผู้ใดพบได้  ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะคนเราเกิดมาไม่มีความรู้เพียงพอที่จะไปแสวงหาความพอดีให้กับตนเอง  แม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับตัวของตัวเอง  คนเรายังไม่รู้จัก  ซึ่งอยู่กับตัวเรานี่แหล่ะ  ใกล้ชิดติดกันอย่างนี้ยังไม่รู้จักแล้วจะไปรู้จักสิ่งอื่น ๆ นั้นไกลเกินไป  สิ่งที่ใกล้ ๆ นี้ยังไม่เข้าใจ  แล้วสิ่งที่อยู่ไกลจะรู้จักให้ดีได้อย่างไร
       เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกต้องในเบื้องต้น จึงต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเองก่อนว่า คนเราเกิดมาเพื่ออะไร   คนเราเกิดเพื่อจะหนีทุกข์ไปหาสุขกันทุกคน  สุขนั้นก็ต้องการสุขที่ถาวรตลอดไป  สุขชั่วคราวไม่มีผู้ใดต้องการ  สุขถาวรที่ทุกคนต้องการแปลเป็นภาษาธรรมเรียกว่า “นิพพาน”  คนทุกคนที่เกิดมามีความ  ต้องการสุขถาวร หรือนิพพานกันทุกคน  ฉะนั้นเป้าหมายของชีวิตคนเราทุกคนคือ “นิพพาน”
       แล้วก็ชีวิตคืออะไร  ชีวิตของคนเราคือการศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง  คนเราทุกคนเกิดมาไม่ได้อะไรมาฟรี ๆ  ต้องศึกษาเรียนรู้เอาทั้งหมด  ถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ก็ไม่ได้อะไรเลย  และชีวิตของคนเราต้องมาฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก  ถ้าไม่ฝึกแล้วเลวยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน แล้วคนเราจะฝึกฝนตนเองได้ที่ไหน  มีเครื่องมืออะไรที่ธรรมชาติให้มาฝึกฝนตนเองบ้าง  คนเราจะฝึกฝนตนเองได้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เรียก “อินทรีย์ ๖”  อินทรีย์ นี้แหละ  ที่ธรรมชาติให้มาเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนตนเอง  คนเราจะดีหรือเลวอยู่ที่การใช้อินทรีย์ ๖  นี้แหละ  ถ้าใช้อินทรีย์ ๖  ไปในทางรับความรู้สึกอย่างเดียวชีวิตก็จะมีแต่ปัญหา  แต่ถ้าใช้อินทรีย์ ๖  ในทางการศึกษาเรียนรู้ ชีวิตของคน ๆ นั้นก็จะมีปัญหาน้อย  พบแต่ความสุข
       เมื่อเรารู้จักตัวเองดีแล้ว  เราก็จะรู้จักใช้เครื่องมือฝึกฝนตนเองที่ธรรมชาติให้มา  ต่อไปเราจะพบความพอดีของชีวิตของเราได้อย่างไร  และมีผู้ใดที่รู้เรื่องราวของโลกและชีวิตดีที่สุด  บุคคลที่รู้เรื่องราวของชีวิตดีที่สุดในโลกก็คือ  พระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลก  เป็นผู้รู้แจ้งโลกและชีวิต  หาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ได้  ในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ  พระองค์ได้ตรัสสั่งสอนมนุษย์และเทวดาอยู่ถึง ๔๕ พรรษา  คำสอนของพระองค์มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  คำสอนของพระองค์ท่านทั้งหมด  พระองค์ท่านสรุปไว้ว่า  พระองค์ท่านสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น  คำสอนของพระองค์ท่านขณะนี้ได้จารึกไว้ในพระไตรปิฎกจำนวน ๔๕ เล่ม  ถ้ามนุษย์ทุกคนต้องการความพอดีของชีวิตตนเองว่าอยู่ตรงไหน  ต้องศึกษาเรียนรู้จากพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน ที่สอนให้ไว้ในพระไตรปิฎกให้จบหลาย ๆ  รอบแล้วท่านจะรู้เห็นความจริงของโลกและชีวิตของท่าน  แล้วก็จะหาพบความพอดีของชีวิตท่านได้
       พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าที่สุดโต่งของมนุษย์มี  ๒ ด้าน 
       สุดโต่งด้วนที่ ๑  คือ ความพอใจ (กามสุขัลลิกานุโยค

       และที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ก็คือ ความไม่พอใจ (อัตตกิลมถานุโยค)  
       มนุษย์ส่วนมากจะไปตกอยู่ในที่สุด ๒ ด้านนี้ตลอดเวลา  
       ความพอใจ ก็คือความโลภ   
       ความไม่พอใจ ก็คือความโกรธ 
       ตามความพอใจ ไม่พอใจไม่ทัน เรียกว่าความหลง 
ชีวิตของคนเราจึงไปหลงพอใจไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา  จึงไม่มีโอกาสพบความดีของชีวิต 

       ความพอดีของชีวิตก็คือ หลักสายกลาง หรือหลักความจริง ไม่ไปเกี่ยวข้องกับความพอใจ ไม่พอใจ  โดยรู้เท่ากันความจริงของโลกและชีวิตคือ  กฎธรรมชาติ ๒ กฎ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้  อันได้แก่ กฎไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  หรือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป  และกฎของเหตุปัจจัยหรือ  อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท  ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอย ๆ หรือบังเอิญมีเหตุปัจจัยให้เกิดเสมอ
       เมื่อคนเราฝึกฝนตนเองให้รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว  ก็จะรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเราหรืออินทรีย์ ๖  ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  
       เมื่อรู้อย่างนี้แล้วตัวของเราก็ไม่ไปหลงพอใจและไม่พอใจ  ต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเรา  สัมมาทิฐิหรือปัญญาก็เกิดขึ้นทันทีแล้วองค์ธรรมของมรรคมีองค์ ๘  เกิดขึ้นตามมาคือ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ นี้คือ  หลักความจริงหรือหลักสายกลาง  หรือหลักของความดี  “ความพอดีของชีวิตคนเราอยู่ตรงนี้”  ความพอดีของชีวิตคนเราอยู่ตรงที่คนเรารู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัส ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย ใจ  ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตเราจึงไม่ไปสุดโต่งทั้ง ๒ ด้าน คือ  ด้านความพอใจ  และไม่พอใจ
       วิธีปฏิบัติตนเองให้เขาถึงความพอดีของชีวิต  ก็เอาหลักทางสายเอกที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้  คือหลักวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖  ให้รู้ให้เห็นสิ่งทั้งปวงว่าไม่เที่ยงเกิดดับ  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว  แล้วแตกสลาย  ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  
       การปฏิบัติให้ถึงความพอดีของชีวิตคือ  เริ่มตื่นนอนขึ้นมาให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งตัวของเรา ไม่เที่ยงเกิดดับ  ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็แตกสลายไป  ต่อไป  ตาเห็นรูปอะไร  ให้พิจารณาว่ารูปไม่เที่ยงเกิดดับ  ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  หูได้ยินเสียง  ให้พิจารณาว่าเสียงไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  จมูกได้กลิ่น  ให้พิจารณาว่ากลิ่นไม่เที่ยงเกิดดับ  ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  ลิ้นกระทบรส  ให้พิจารณาว่ารสไม่เที่ยงเกิดดับ  ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  กายกระทบสัมผัส  ให้พิจารณาว่าสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่เที่ยงเกิดดับ  ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  ใจนึกคิดขึ้นมา  ให้พิจารณาว่าความคิดไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ  ให้พิจารณาให้เห็นความจริง  ทั้ง ๒ ด้านอย่างนี้ตลอดเวลา   
       เวลาออกจากบ้านไปทำงานให้พิจารณาอย่างนี้  มองดูบ้านของตัวเองให้เห็นความจริงว่า บ้านฉันใหม่แล้วเก่าแล้ว จะแต้องแตกสลายในที่สุด  ตัวของเราก็หนุ่มแก่แล้วตาย  เห็นผู้คนทั้งหลายก็เกิดดับแตกสลายเช่นกัน  ปฏิบัติอย่างนี้ทุกวัน  ความพอใจหรือไม่พอใจหรือ  โลภะ  โทสะ  โมหะ  ก็จะลดลงไปทุกวัน  ความจริงที่เรียกว่า ปัญญา  ก็จะเข้ามาแทนที่ในใจของเรา  เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสตัวของเราทางอินทรีย์ ๖   สติก็จะดึงปัญญาออกมารับปัญหาก็จะถูกแก้ไขไปในทางที่ถูกต้องทุกครั้ง  ปัญหาของชีวิตก็ลดน้อยลงทุกวัน  ในที่สุดก็หมดไป  การวิปัสสนาอย่างนี้ไม่กระทบกระเทือนเวลาการทำงานในหน้าที่ของท่าน  มีแต่จะเสริมสร้างงามและชีวิตของให้ดีขึ้น  เพราะการปฏิบัติอย่างนี้จึงมีปัญญา (ความรู้ที่ดับทุกข์หรือแก้ปัญหาได้)  เกิดขึ้นมาพร้อมกับการทำงานหรือการดำเนินชีวิตของท่าน  ปัญญาที่เกิดขึ้นก็จะแก้ปัญหาให้กับท่านตั้งแต่ถูกกระทบสัมผัส  แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไปอีกก็ไม่มี  อุปมาเหมือนเมล็ดมะม่วงที่งอกขึ้นมาเราก็รีบบี้มันทิ้งเสียทีที่มันงอก  มะม่วงก็ไม่มีต้นเกิดขึ้นให้รกรุงรังในบ้านของเราอีกฉันใดก็ฉันนั้น
       การที่เราเอาความจริงของโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ ๒ กฎ  ดังกล่าวนั้นมาตั้งไว้ที่ตา  หู  จมูก ลิ้น  กาย  ใจ   ที่เป็นทางแห่งการเกิดทุกข์หรือปัญหาเป็นฐานรองรับการกระทบสัมผัสอย่างนี้เรียกว่า  เอาความจริง หรือปัญญา หรือสัมมาทิฐิ   มาตั้งรับกระทบสัมผัส  แล้วจะทำให้ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) หรือความคิดถูกต้องเกิดขึ้น  
       ต่อไปองค์ธรรมของมรรคมีองค์ ๘  เกิดขึ้นครบ  คือ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  นี่แหล่ะคือหลักสายกลาง หรือหลักแห่งความพอดีของชีวิต  ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในทางสุดโต่งทางใดทางหนึ่งคือ ความพอใจและไม่พอใจ  เมื่อคนเราปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖  อย่างนี้ตลอดเวลา  องค์ธรรมของการบรรลุมรรค  ผล  นิพพาน  เกิดขึ้นตามครบโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ  คือ สติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปทาน ๔  อิทธิบาท ๔  อินทรีย์ ๕  พละ ๕  โพชฌงค์ ๗  เมื่อมีองค์ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นครบเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้วชีวิตของเราก็จะพบความพอดีของชีวิตถาวร  ซึ่งชีวิตของมนุษย์ทุกคนต้องการความต้องการอันนี้ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน  ถ้าสภาวะจิตเบาบางจากกิเลสตัณหาลงไปบ้าง  ก็จะมองเห็นความจริงอันนี้ได้
       นี่คือหลักการและหลักปฏิบัติให้ชีวิตของเราเอง เข้าไปถึงความพอดีของชีวิต  ความพอดีของชีวิตทุกคนอยู่ที่การรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเราทาง ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ในขณะปัจจุบันตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเกิดดับ  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวเท่านั้นไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  ว่างจากตนและของตน  รู้เห็นอย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้ไม่ประมาท  เมื่อไม่ประมาทแล้วก็จะนำพาตัวเองตั้งอยู่ในความพอดีของชีวิต
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้