ทางสายเอก (สรุป)
กฎธรรมชาติ ๒ กฎ (ย่อ)
     พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร  อันนี้สำคัญ  ตรัสรู้กฎธรรมชาติ ๒ กฎ คือ กฎไตรลักษณ์อิทัปปัจจยตา  ท่านตรัสรู้ว่า โลก จักรวาลและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง เป็นธรรมชาติ  ธรรมชาติทั้งปวง ลงอยู่ในกฎธรรมชาติ ๒ กฎ
กฎข้อแรก คือ กฎไตรลักษณ์  “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” หรือ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป”
   *วัตถุสิ่งของในโลกนี้  “ใหม่ เก่า แตกสลาย”
   *สิ่งที่มีชีวิต สัตว์บุคคล  “หนุ่ม แก่ ตาย”
กฎข้อที่สอง คือ กฎของเหตุปัจจัย หรือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ในโลกนี้ไม่มีอะไรบังเอิญ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอย ๆ  เวรกรรมมีจริง, เหตุตรงผลเสมอ
      เพราะฉะนั้น กฎธรรมชาติ ๒ กฎนี้ มันคือ ความจริงของธรรมชาติทั้งปวง เพราะโลกและชีวิต วัตถุสิ่งของสัตว์บุคคล เป็นธรรมชาติทั้งหมด  ธรรมชาติทั้งหมดมันต้องเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว  “ให้เกิดก็เกิด ให้ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ ให้แตกสลายก็แตกสลาย” 
      ถ้าเราไม่ศึกษาเรียนรู้  เราก็ไม่รู้เลยว่า  “พุทธเจ้าตรัสรู้อะไร”   แม้แต่ศึกษาเรียนรู้แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎธรรมชาติ ๒ กฎ
      ไปรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ อริยสัจ ๔  ใช่ มันเป็นผล  ก่อนที่จะรู้อริยสัจ ๔ นั้นท่านตรัสรู้ธรรมชาติ  กฎธรรมชาติ ๒ กฎก่อน 
      ท่านว่าตัวเราและโลกนี้เป็นธรรมชาติ  ธรรมชาติทั้งหมด ลงอยู่ในกฎธรรมชาติ ๒ กฎ ที่พวกเราสรุปกฎธรรมชาติ ๒ กฎ เหลือแต่ “ไม่เที่ยงเกิดดับ”

วิปัสสนาภาวนากรรมฐาน (ย่อ)
   วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาหรือความจริง (ความจริงจากกฎธรรมชาติ ๒ กฎ)
   ภาวนา แปลว่า เจริญ, ท่องจำ, ทำซ้ำ ๆ
   กรรมฐาน แปลว่า ฐานที่ตั้งในใจ
   การวิปัสสนาภาวนากรรมฐาน แปลว่า การเจริญ (ท่องจำ) เอาความจริงมาไว้ในใจของเรา (เป็นฐานที่ตั้ง)
กำหนดรู้ สติปัฏฐาน ๔ (ย่อ)
     การวิปัสสนาภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ต้องรู้ความหมายของอัตถะพยัญชนะอันนี้ทั้ง ๒ ส่วนว่า 
     ส่วนที่ ๑ วิปัสสนาภาวนาแปลว่าอะไร  วิปัสสนาภาวนาแปลว่า ท่องจำความจริงของโลกและชีวิต ตามกฎธรรมชาติ ๒ กฎ  สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับ ท่องจำจนความจริงของโลกและชีวิต ไม่เที่ยงเกิดดับเข้าไปเก็บเป็นสัญญาความจำไว้ในใจของเราก่อน 
     แล้วจึงจะไปถึงส่วนที่ ๒ คือ พิจารณา สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง สติไประลึกดึงเอาข้อมูลความจริงที่ดับทุกข์ได้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาคิด สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับไปพิจารณา กายในกาย คือให้เห็นตามเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยงเกิดดับ เวทนาในเวทนา คือความพอใจภายในภายนอกมันไม่เที่ยงเกิดดับ เรียกว่าเห็นตามจริงตามที่มันเป็น จิตในจิต คือความสุขภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ  ธรรมในธรรม คือธรรมชาติภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ
     นี่ก็หมายถึงว่าเราเห็นความจริงของโลกและชีวิตถูกต้องครบถ้วน ว่ามันอยู่ในกฏธรรมชาติ ๒ กฎ คือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเกิดด้บอยู่ตลอดเวลา  ที่เราท่องคำว่า ตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ ไปจนถึงใจคิดนึกไม่เที่ยงเกิดดับ หมายความว่า เราเห็นโลกและชีวิตถูกต้อง เพราะโลกและชีวิตเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  การท่องไม่เที่ยงเกิดดับเป็นการตามทันสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดับความเห็นผิดที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ทันทีที่ถูกกระทบสัมผัส เรียกว่า นิโรธ  แล้วเราก็เดินทาง นี้คือท่องและตามทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสที่อินทรีย์ ๖ ของเราตลอดเวลา เรียกว่า มรรค  หรือทางเดินที่ถูกต้อง นี่คือเส้นทางสายใหม่ในการดำเนินชีวิต เรียกว่า เส้นทางสร้างสุขดับทุกข์ถาวรของพระพุทธเจ้า (นิโรธ มรรคปฏิปทา)
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้