ธรรมแห่งความสำเร็จโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เกิดขึ้นได้อย่างไร
       การที่เรามาอยู่ร่วมกัน มาฝึกวิปัสสนาภาวนา เดินเวียนเทียน มาเเดินจงกรมร่วมกันเป็นประจำอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะอาศัยพลังกลุ่มสนับสนุนให้เราสร้างพฤติกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา นิสัยใหม่จะหนุนเราให้ไปถึงเป้าหมายของชีวิต คือบรรลุมรรคผล นิพพาน หรือสุขถาวรได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมชาติ พระพุทธเจ้าว่าสิ่งไหนทำต่อเนื่องเป็นประจำ สิ่งนั้นก็จะไปถึงเป้าหมายตามที่เราตั้งใจไว้ เหมือนเราเดินทาง ถ้าเราไมาหยุดเลย กับคนที่เดินบ้างหยุดบ้างอย่างนี้ คนที่เดินไม่หยุดเลยก็ย่อมไปถึงเป้าหมายก่อนฉันใดฉันนั้น
       เพราะฉะนั้นทำอย่างไร เราจะเดินไปสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ก็คือ อาศัยการฝึกของเราเป็นประจำอย่างนี้ เพราะเราเรียนแล้วปริยัติ รู้แล้วว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎธรรมชาติ / กฎ ไตรลักษณ์ กับอิทัปปัจจยตาฯ สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับ แล้วเราต้องเอาไม่เที่ยงเกิดดับใส่ตัวเราอยู่ตลอดเวลา  คือรักษาสัมมาทิฏฐิให้มั่นคง เพราะความรู้ไม่เที่ยงเกิดดับ คือสัมมาทิฏฐิ ความพอใจ ไม่พอใจเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเราหยุดใส่ไม่เที่ยงเกิดดับ ก็หมายความว่า เราใส่ความพอใจไม่พอใจ คือมิจฉาทิฏฐิทันที มันก็ไปเชื่อมกับพฤติกรรมเรา สร้างข้อมูลต่อไปอีก แทนที่ข้อมูลเก่าจะถูกไม่เที่ยงเกิดดับกำจัดหมดไปทีละอันสองอันก็ทำไม่ได้
       ฉะนั้นเราต้องฝึกเอาไม่เที่ยงเกิดดับไปฝึกใช้จนให้เกิดเป็นความชำนาญ คือสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เป็นไม่เที่ยงเกิดดับให้ได้ เพราะพฤติกรรมมันเร็วกว่าข้อมูล เพราะพฤติกรรมมันมีความสมบูรณ์ มีพร้อมทั้งข้อมูลและการกระทำ มันสั่งเราทำทันที ไม่ต้องคิด แต่ข้อมูลมันสั่งให้เราคิดก่อนแล้วมันถึงสั่งเราไปทำ เพราะฉะนั้นธรรมชาติมันก็มีขั้นตอนของมัน คือ เราเรียนไม่เที่ยงเกิดดับเสร็จก็จบแล้ว ไม่เที่ยงเกิดดับก็อยู่ในใจ ถ้าเราไม่ฝึกเอาไม่เที่ยงเกิดดับมาใช้ ให้ธรรมชาติของการฝึกใช้ให้มีในตัวเรา เราก็ไม่สามารถจะเอาไม่เที่ยงเกิดดับไปใช้แก้ปัญหาชีวิตได้
       เพราะฉะนั้นเราต้องหมั่นฝึก ก็เพื่อจะให้มันมีแรงหนุนตลอดเวลา คือแรงหนุนที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องไม่หยุด ต้องมีแรงหนุนอยู่ตลอดเวลา คือ เราจะไม่ว่างเว้นจากการท่องไม่เที่ยงเกิดดับ ตามทัน เห็นตามจริง ถ้าเราไม่ว่างเว้นก็หมายความว่า แรงผลักดันมันมีอยู่ตลอดเวลา ตัวเราก็เคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่หยุด แต่ถ้าเราหยุด ตัวเราก็เคลื่อนไปไม่ได้ เพราะตัวมันขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ใจเราร่างกายเราเหมือนรถ แต่ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน นี่เราต้องเข้าใจนะ ใจเรากับร่างกายเหมือนรถยนต์ ข้อมูลเหมือนคนขับ ถ้าคนขับไม่มี รถมันก็จอดอยู่กับที่ แต่ถ้ามีคนขับมันก็ขับไปตลอดเวลา
       ชีวิตเรามันเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา แต่มันเคลื่อนไปได้ ๒ ทาง คือทางบวกและทางลบ ถ้าเราไม่เคลื่อนตามความพอใจไม่พอใจ มันก็เคลื่อนตามไม่เที่ยงเกิดดับ ถ้าไม่เที่ยงเกิดดับไม่คลื่อน ก็เคลื่อนไปตามความพอใจ ไม่พอใจ ถ้าเราละเลยไม่เที่ยงเกิดดับ ไม่ฝึกไม่เติมข้อมูล ให้มีอย่างต่อเนื่อง แรงดันของไม่เที่ยงเกิดดับไม่มาเสริมตลอดเวลา มันก็จะไม่มีกำลังส่งเราไปถึงเป้าหมาย มันจะออกข้างทางไปอีก
       เพราะฉะนั้นเราต้องมีความตั้งใจ ขยันหมั่นเพียรเอาจริงเอาจังในการใส่ข้อมูลแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราและในโลกนี้ เป็นอันตรายต่อเราทั้งหมด ไม่มีสิ่งเกื้อกูลเราแม้แต่นิดเดียวนะ ถ้าเราไม่มีข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอุปกรณ์ทำลายล้างชีวิตเราหมด ไปที่ไหนมีแต่ความพใจ ไม่พอใจ ไปหยิบจับสิ่งของอะไร ก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาปรุงแต่ง ก็ได้ทุกข์ตามมาเป็นประจำ
       สิ่งที่น่ากลัวคือการปรุงแต่งซ้ำซ้อน เพราะปรุงแต่งซ้ำซ้อนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ การปรุงแต่งซ้ำซ้อนนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลความพอใจ ไม่พอใจนั่นล่ะ แต่ถ้ามีข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับอยู่ในใจ การปรุงแต่งซ้ำซ้อนก็ไม่มี ยิ่งเราเห้นความจริงมากเท่าไร ใจเรายิ่งเบานะท่าน เพราะถ้าไม่ปรุงแต่ง ก็ไม่มีการเก็บโลภะ โทสะ โมหะไว้ในใจ แต่ถ้ามีการปรุงแต่งก็เก็บรวบรวมความพอใจ ไม่พอใจไว้เต็มละ แต่ถ้ามีไม่เที่ยงเกิดดับ มีแต่จะดึงโลภะ โทสะ โมหะเก่าออกทิ้ง
        เพราะฉะนั้นการที่เรามาที่นี่ คือ มาปลดสัมภาระภายใน คือ ปลดตัวตน ละตัวตนของเรา โดยให้เห็นว่าตัวฉันไม่เที่ยงเกิดดับ บทวิปัสสนาที่เราเดินจงกรม มันจะมีคำว่าตัวฉันไม่เที่ยงเกิดดับเกือบทุกวรรคทุกตอน อันนี้คือปลดสัมภาระภายใน เพราะความพอใจ ไม่พอใจเป็นสัมภาระหนักอึ้งของคนเรา ถ้าเราไม่เอาความจริงไม่เที่ยงเกิดดับเข้าไปใส่แทน สัมภาระทั้งหมดมันก็เพิ่มขึ้นไปในตัว เห้นคนทั่วไปไหม เขาก็หนักอกหนักใจไปตลอดชีวิตเขา ไม่มีบางเบาอย่างพวกเรา พวกเราหลายคนก็ปลดได้เยอะแยะ ปลดได้เยอะนะในชีวิตของเราที่มาฝึกที่นี้ แต่มันก็มีอีกเยอะเหมือนกันที่ยังไม่ได้ปลด หรือปลดไม่ได้ หรือปลดได้ในบางส่วนก็ยังดี
       เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกต่อไปอีก ท่องแล้วก็ฝึกให้เห็นจริงอีกในระดับต่อไป ผมจะให้ท่านท่องไม่เที่ยงเกิดดับ แล้วเอาใจไปตามดูเอาจิตไปตามปาก คือ จดจ้องตามเสียงที่พูด และต่อไปจะให้พิจารณาตามสิ่งที่พูด เมื่อเอาจิตไปตามดูมั่นคงแล้ว ใช้จิตพิจารณาอีก หมายความว่าตามดู เอาปากกับใจให้ตรงกัน เมื่อปากกับใจตรงกันแล้วมันเกิดสมาธิ ก็ใช้สมาธิ ใช้ข้อมูลนิโรธสัญญาเป็นความรู้ที่ดับทุกข์ได้ ไปพิจารณาสิ่งที่มากระทบตัวเรา ว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปจริงไหม มันเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันจริงไหม คือต่อไปเราจะต้องพิจารณา
       แต่หมายความว่า พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ รวม ๆ ไม่ใข่สติปัฏฐาน ๔ โดยตรง โดยตรงก็เอากาย เวทนา จิต ธรรม ไปพิจารณา โดยอ้อม ตาเห็นรูปไม่เที่ยงกิดดับ นี่คือธัมมานุปัสสนา ตัวฉันไม่เที่ยงเกิดดับ คือ กาย เวทนา จิต นี่คือตัวฉัน เมื่อท่องไม่เที่ยงเกิดดับ สติปัฏฐาน ๔ ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่องไม่เที่ยงเกิดดับมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น เมื่อมีสัมมาทิฏฐิเป็นความรู้อยู่ในใจแล้ว ไม่เที่ยงเเกิดดับ คือความรู้ที่ดับทุกข์ได้ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิเป็นข้อมูลสัญญาความจำที่อยู่ในใจแล้ว  ก็เอาข้อมูลสัญญาความจำไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เราจะเห็นความจริงว่า กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นยังไง เพราะไม่เที่ยงเกิดดับ คือสัมมาทิฏฐิ เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมถูกต้อง เห็นจามสัมมาทิฏฐิ เห็นตามกฎธรรมชาติ ๒ กฎ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรมไม่เที่ยงเกิดดับ กายในกาย กายภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ สุข ความพอใจ ไม่พอใจภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ ทุกข์ จิตในจิต ทุกข์ สุข ภายใน ภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับอย่างนี้
       ถ้าเรามี ตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ มรรค์มีองค์ ๘ เกิดขึ้นที่ตา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ ได้ถูกต้อง ถ้าไม่มีตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับอย่างนี้ มรรคมีองค์ ๘ ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีความรู้ที่จะพิจารณาสติปัฏฐาน ๔  เพราะฉะนั้น ตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ มรรคมีองค์ ๘ เกิดแล้ว  เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นก็เอาสัมมาทิฏฐิไปพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ เมื่อพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ อยู่เป็นประจำ ทำให้สัมมัปปธาน ๔ เกิดขึ้น คือ ความเพียร ๔ อย่าง คือเพียรระวังไม่ให้ความพอใจ ไม่พอใจเกิดขึ้น ท่องตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ ความพอใจ ไม่พอใจไม่เกิดขึ้นทางตา ท่องตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ คือปหานปธาน เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วฆ่าทิ้ง ท่องตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับต่อเนื่อง ภาวนาปธานเกิดขึ้น ท่องตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับต่อไปเพื่อรักษาความจริง คือ อนุรักขนาปธาน ก็หมายความว่า ความเพียรท่องไม่เที่ยงเกิดดับ ที่ว่าความเพียรที่เราท่องไม่เที่ยงเกิดดับ มันเกิดความเพียร ๔ อย่างที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตลอดเวลา
       องค์ธรรมโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เริ่มต้นที่ มรรคมีองค์ ๘ ก่อน ประกอบไปด้วย สัมมาทิฏฐิ คือเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ คือคิดชอบ สัมมาวาจา คือพูดชอบ สัมมากัมมันตะ คือประพฤติชอบ สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ สัมมาสติ คือระลึกชอบ สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจตั้งมั่นชอบ มรรค์มีองค์ ๘ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ คือ สติดึงเอาความจริงมาตั้งเป็นฐานโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้เห็นความจริงของโลกและชีวิต โดนไม่ต้องไปพิจารณาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกัน เหมือนกินข้าวแล้วมันอิ่มจะตามมาเลย เรากินอิ่มไม่ได้ จู่ ๆ เราปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้ เพราะสติปัฏฐาน ๔ เป็นผล มรรคมีองค์ ๘ เป็นเหตุ มรรคมีองค์ ๘ เป็นผลของไม่เที่ยงเกิดดับ เมื่อมันไปถึงสัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบ ๔ อย่างแล้ว ท่องไม่เที่ยงเกิดดับต่อไป ก็จะเกิดอิทธิบาท ๔ เป็นฉันทะ คือพอใจที่จะท่องไม่เที่ยงเกิดดับ เป็นวิริยะ คือ เพียรท่องไม่เที่ยงเกิดดับ เป็นจิตตะ คือมุ่งมั่นตั้งใจท่องไม่เที่ยงเกิดดับ แล้วเป็นวิมังสา คือมีการตรวจสอบการท่องไม่เที่ยงเกิดดับว่าครบ ๖ ทางตลอดเวลาหรือไม่ นี่คือ อิทธิบาท ๔
       แล้วต่อมาก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อินทรีย์ ๕ แก่กล้า เมื่อเรามีศรัทธาท่องไม่เที่ยงเกิดดับก็แก่กล้า วิริยะเพียรท่องไม่เที่ยงเกิดดับก็แก่กล้า สติท่องไม่เที่ยงเกิดดับก็แก่กล้า สมาธิก็ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่กับไม่เที่ยงเกิดดับแก่กล้า ปัญญาก็มีไม่เที่ยงเกิดดับแก่กล้า คือความรู้ที่ดับทุกข์ได้แก่กล้า
       ต่อไปก็เป็นพละ ๕ คือมีกำลังทั้ง ๕ อย่าง มีศรัทธาพละ มีกำลังทางศรัทธาท่องไม่เที่ยงเกิดดับเกิดขึ้น มีวิริยะพละ คือมีกำลังทางความเพียรท่องไม่เที่ยงเกิดดับเกิดขึ้น มีสติพละ คือมีกำลังทางสติระลึกรู้ท่องไม่เที่ยงเกิดดับเกิดขึ้น มีสมาธิพละ คือมีกำลังตั้งใจแน่แน่วท่องไม่เที่ยงเกิดดับเกิดขึ้น มีปัญญาพละ คือมีกำลังเป็นความรู้ที่ดับทุกข์ได้เกิดขึ้น อันนี้เรียกว่าได้ อรหันตมรรคแล้ว
       ต่อไปเมื่อพละ ๕ เกิดขึ้นแล้ว โพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นผลของ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ก็เกิดขึ้น สติก็จะระลึกถึงการท่องไม่เที่ยงเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้งสติก็จะระลึก ลากเอาสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาพิจารณา เรียกว่า ธรรมวิจยะ ว่าตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับจริงไหม จริงไหม เออ จริง ไปจนถึงใจคิดนึกไม่เที่ยงเกิดดับ จริงไหม จริง ก็เห็นความจริง ก็มีวิริยะ คือความเพียรดึงสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาพิจารณาตลอดเวลาเมื่อเห็นความจริงชัดเจนแล้วก็เกิดปิติ คือ อิ่มอกอิ่มใจเมื่อรู้ความจริง แล้วก็เกิดปัสสัทธิ คือสบายใจ โปร่งโล่ง  เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างตามความจริง มีแต่สุขที่ไร้ทุกข์ สมาธิ คือความตั้งมั่นอยู่ในไม่เที่ยงเกิดดับ เป็นสุขที่ไร้ทุกข์ในที่สุด ก็เกิดอุเบกขา คือวางเฉย เห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง ไม่มีทุกข์ เรียกว่ามีแต่สุขที่ไร้ทุกข์เกิดขึ้น ในที่สุดก็ได้เป็นพระอรหันต์ เห็นไหม การท่องไม่เที่ยงเกิดดับมันได้ผลเป็นขั้นตอนของมันอย่างนี้
       เพราะฉะนั้นการที่พวกเรามาฝึกมันมีคุณค่าอย่างนี้ เห็นไหม ถ้าเราไม่มาฝึกอย่างนี้ สิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจเรามันมีเหลือล้นจริง ๆ พูดกับคนทั่วไปอย่างที่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบไว้ว่า น้ำในทะเล ๔ู มหาสมุทรยังน้อยกว่าบาปอกุศลที่อยู่ในใจเรา แต่ถ้าเราได้อริยบบุลแลวนั้น เหมือนคนเอาใบหญ้าคาไปจุ่มน้ำทะเล แล้วก็สะบัดออก หยดน้ำที่เหลือจากการสะบัดนั้นที่ติดอยู่กับหญ้าคา นั้นคือ บาปกรรมที่เหลืออยู่  ถ้าได้อริยบุคคล น้ำในทะเล ๔ มหาสมุทรนั้น ถูกฆ่าเรียบโดยไม่เที่ยงดับ เหลือที่เราต้องมาทำลายมันแค่น้ำหยดใบหญ้าคาเท่านั้น นั่นนคือ ๗ ก้อนเท่าเมล็ดผักกาด ๗ เม็ด ๒ เม็ด ๓ เม็ด ๒ เม็ด ๑ เม็ด
       ก็ถือว่ามันเป็นโชคดีอันยิ่งใหญ่ของพวกเรา เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาควาเป็นโชคดีของเราอย่างนี้ตลอดไปนะท่าน ถ้าเราไม่รักษาเพิ่มเติม  โอกาสที่จะโชคดีอย่างนี้ไม่มี เพราะความโชคดีของเราหรือสิริมงคลนี้เป็นธรรมชาติ ถ้าเราไม่หาเหตุปัจจัยของความโชคดีใส่ตัวเราเป็นประจำ ความโชคดีก็ไม่มีแก่เราตลอดไป หาได้ยังไง ก็หาเหตุปัจจัยดีมาประชุมกันให้ครบ ก็คือ การมาปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมที่นี่ ฝึกท่องไม่เที่ยงเเกิดดับ นั่นคือ การใส่เหตุปัจจัยของความโชคดีแก่เรา
       เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำอยู่นี้ มันมีค่าเกินกว่าที่จะประมาณค่าได้นะ ไม่ใช่ธรรมดา เราเป็นคนที่มีค่ามาก แล้วเราก็ได้สิ่งที่มีค่าที่สุด ที่มนุษย์ในโลกที่อยากได้ เราก็ได้แล้ว แต่เราต้องรักษามันไว้ ต้องเพิ่มเติมให้มันมีค่ามากขึ้น โดยการใส่เหตุใส่ปัจจัยตามธรรมชาติ  เรารู้แล้วว่าสิ่งไหนมันจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยมาประชุม สิ่งไหนจะแตกสลาย เพราะเหตุปัจจัยมันหมดไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการที่เรามาฝึกอย่างนี้ ต้องมาฝึกเป็นประจำ จนกว่าเราจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่าเป้าหมายเราอยู่ที่นั่น
       เพราะเรามาที่นี่ มาอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าอย่างนี้ไม่ใช่เป้าหมายธรรมดานะ ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำได้ แต่เรามาได้เป็นประจำ เราอยู่นี่ใกล้ชิดพระรัตนตรัยเป็นประจำ มันวิเศษสูงสุด อย่างที่บอกว่าที่นี่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของพวกเรา
       เมื่อท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ก็เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดไปปฏิบัติฝึกฝนตนเองตามบทวิปัสสนาภาวนาที่ต่อท้ายนี้
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้