นมหากัมมวิภังคสูตร (๑๔/๖๑๒)
พระพุทธเจ้าทรงจำแนกการให้ผลของกรรม แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งต้องรับผลในชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไปด้วย
๒. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปสุคติก็มี เพราะกรรมดีที่เคยทำไว้ก่อน ๆ ให้ผลส่วนกรรมชั่วในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นชอบ จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. บางคนทำดี ตายแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะกรรมดีที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งจะให้ผลในชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไปด้วย
๔. บางคนทำดี ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่เคยทำไว้ก่อน ๆ ให้ผล ส่วนกรรมดีในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นผิด จึงไปเกิดในอบาย
ผู้ที่ระลึกชาติได้หรือมีญาณอันจำกัด เมื่อไม่ได้ศึกษามหากัมมวิภังคสูตรนี้ จึงมีความเห็นผิดว่าทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว เช่น อลาตเสนาบดีระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว มีข้อมูลไม่พอ จึงประเมินผลผิด หรือจับคู่ เหตุ-ผล ผิดฝาผิดตัว เข้าใจผิดว่า ฆ่าโคเป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำชั่วได้ดี) ถ้าอลาตเสนาบดีระลึกชาติได้หลายชาติ ก็จะมีข้อมูลมากพอที่จะสรุปหรือจับคู่ เหตุ-ผล ได้ถูกต้องว่า บูชาพระเจดีย์เป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำดีได้ดี)
คัมภีร์อรรถกถาได้จำแนกกรรมเป็น ๓ หมวด ๆ ละ ๔ รวมเป็น กรรม ๑๒ คือ
หมวดที่ ๑ กรรมจำแนกตามกาลที่ให้ผลมี ๔ คือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
หมวดที่ ๒ กรรมจำแนกตามหน้าที่มี ๔ คือ
๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด (เป็นมนุษย์ เปรต ฯลฯ)
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุนชนกกรรม ถ้าเกิดดี ก็ส่งให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเกิดชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้เบาบางลง อุปปีฬกกรรมเป็นกรรมตรงข้ามกับกรรมเดิม
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอนชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้ตกไป แล้วให้ผลตรงกันข้าม จากดีเป็นชั่ว จากชั่วเป็นดี
หมวดที่ ๓ กรรมจำแนกตามความหนักเบามี ๔ คือ
๙. ครุกกรรม กรรมหนัก ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ สมาบัติ ๘
๑๐. พหุลกรรม กรรมที่มีกำลัง แต่ไม่เท่าครุกกรรม หรือกรรม ที่ทำบ่อยจนชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อน แต่อาจารย์บางท่านกล่าวว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนพหุลกรรม อุปมาเหมือนโคที่ไม่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ใกล้ประตูคอก เมื่อประตูเปิด ก็ออกไปได้ก่อนโคที่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ไกลจากประตู
๑๒. กตัตตากรรม กรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อน คือ ประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ได้ตั้งใจไว้ ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล กรรมนี้จึงให้ผล