วิปัสสนาภาวนา มีปัญญา รู้จริง รู้แจ้ง อริยสัจ ๔ ได้อย่างไร

       พระพุทธเจ้าโคตมะได้ตรัสรู้  แล้วได้อบรมสั่งสอนชาวโลกอยู่ถึง ๔๕ พรรษา  คำสอนของพระองค์ท่านมีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระองค์ได้สรุปคำสอนของพระองค์ท่านไว้ว่า “ท่านสอนแต่เรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น”  แล้วท่านก็สอนต่อไปอีกว่า ทุกข์ของเราเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น และตรัสบอกไว้ว่าทุกข์ของคนเราเกิดที่ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  แล้วพระองค์ท่านก็สอนต่อไปอีกว่า  ที่ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะคนเราไม่รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัส  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ   ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต  จึงไปหลงพอใจไม่พอใจกับสิ่งที่มากระทบสัมผัสอินทรีย์ ๖   เมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจคิดนึก ถ้าเกิดความพอใจ หรือไม่พอใจขึ้นมาก็  หมายความว่า  เราบำเพ็ญโลภะ  โทสะ  โมหะ  ให้กับตัวแล้วเราเองทันที  เพราะความพอใจแปลเป็นภาษาธรรมว่า  ความโลภ  ความไม่พอใจ แปลเป็นภาษาธรรมว่า  ความโกรธ  ตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทันเรียกว่า  โมหะ  หรือ  ความหลง
       พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  โลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นเหตุปัจจโย หรือสมุทัยของทุกข์ทั้งปวง  ถ้าเราดับความพอใจ และไม่พอใจได้  ก็หมายถึง เราดับโลภ  โกรธ  หลง หรืออวิชชาได้  ก็ดับทุกข์ทั้งปวงได้   ฉะนั้นจะดับความพอใจ และความไม่พอใจได้  นั้นต้องเข้าใจก่อนว่า  ความพอใจและไม่พอใจนี้เป็นความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง  จะดับความเชื่อได้ก็ต้องเอาความจริงมาดับ  ความจริงที่จะดับความเชื่อได้  ก็ต้องเป็นความจริงของโลกและชีวิต  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้ คือ  กฎธรรมชาติ ๒ กฎ
       กฎแรก คือ  ไตรลักษณ์  อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา  หรือเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  
       กฎอันที่ ๒ คือ  กฎของเหตุปัจจัย  หรืออิทัปปัจจยตา  ปฏิจจสมุปบาท  
       ทั้ง ๒ กฎนี้พระพุทธเจ้าสรุปว่า  สิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยงเกิดดับ  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวเท่านั้นไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  แล้วเอาความจริงคำว่า  ไม่เที่ยง เกิดดับ  ไปไล่ดับความเชื่อที่เป็นความพอใจ และไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  โดยเอาความจริงคำว่าไม่เที่ยงเกิดดับ  มาตั้งกั้นความเชื่อไว้ที่ตา  หู จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เพื่อรับการกระทบสัมผัสในขณะปัจจุบัน (กั้นตรงผัสสะ ไม่ให้เลยไปถึงเวทนา)  ความเชื่อคือ  ความพอใจ และไม่พอใจ  จะถูกดับทันที  ทุกข์หรือปัญหาก็จะถูกดับลงไปตั้งแต่ถูกกระทบ  จึงไม่มีทุกข์หรือปัญหาจะเกิดต่อไปอีก
       เมื่อเราฝึกสติดึงลากเอาความจริงของโลกและชีวิต  คำว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ  มาตั้งไว้ที่อินทรีย์ ๖ อย่างนี้  ความพอใจและไม่พอใจ  จะดับไปทันทีที่ถูกกระทบ  หมายความว่า โลภะ  โทสะ  โมหะ  เหตุปัจจัยหรือสมุทัยของทุกข์  หรืออวิชชาดับลงไป  แล้วปัญญา หรือวิชชาก็จะเกิดขึ้นต่อ  พิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง  รวมทั้งตัวของเราว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ  มีเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวแล้วแตกสลายไป  ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  ความเห็นอย่างนี้ เรียกว่า สัมมาทิฐิ  เมื่อสัมมาทิฐิหรือปัญญาเกิดขึ้นแล้ว  สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (ความคิดถูก) ก็เกิดขึ้นตามมา  แล้วองค์ธรรมของมรรคมีองค์ ๘  ก็เกิดขึ้นครบ  จึงมีปัญญาดับทุกข์  ณ ที่ถูกกระทบสัมผัสได้ทันทีในขณะปัจจุบัน  ทุกข์ต่อไปก็ไม่มีอีก  เมื่อมีมรรคมีองค์ ๘  เกิดขึ้นแล้วต่อไปก็มี  สติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปทาน ๔  อิทธิบาท ๔  อินทรีย์ ๕  พละ ๕  โพชฌงค์ ๗  เกิดขั้นครบโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ   นี่คือองค์ธรรม  ของการบรรลุมรรค ผล นิพพาน เกิดขึ้นแล้ว  จากนั้นก็จะรู้เห็นทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  และเข้าถึง อริยสัจ ๔  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้บอกไว้ดังนี้
       ๑. รู้ว่าความพอใจและไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นจากกระทบสัมผัสทางอินทรีย์ ๖  หรือตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ   ในขณะปัจจุบันก็คือ  ทุกข์ (ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง)
       ๒. การไม่รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสอินทรีย์ ๖  ในขณะปัจจุบันเรียกว่าความหลงหรือโมหะ  ทำให้ไปหลงพอใจ และไม่พอใจ กับสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการกระทบสัมผัสทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เรียกว่าเหตุของการเกิดทุกข์หรือสมุทัย  (ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง)
       ๓. ถ้าเรารู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเราทางอินทรีย์ ๖  หรือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ   ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวแล้วแตกสลาย ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง ตามกฎธรรมชาติ ๒ กฎ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ รู้อย่างนี้ดับทุกข์ได้  คือ   ดับความพอใจและไม่พอใจ  เรียกว่า  นิโรธ  (ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง)
       ๔. การวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖  ให้รู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงของโลก และชีวิตในขณะปัจจุบัน  เรียกว่ามรรค (ทางดับทุกข์)  หรือมรรคปฏิปทา (ธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง)  ถ้าพิจารณาให้รู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงที่มากระทบสัมผัสตัวเรา ในขณะปัจจุบันทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  แล้วจะมีสัมมาทิฐิ  องค์ธรรมของมรรคองค์แรกเกิดขึ้น  ตามทันดับความพอใจ หรือไม่พอใจทันทีที่ถูกกระทบสัมผัสในขณะปัจจุบัน  จึงดับทุกข์หรือสมุทัยของทุกข์ ได้ทันที
       การวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖   อย่างนี้เรียกว่ามรรคปฏิปทา  หรือทางดับทุกข์ เมื่อพิจารณาเป็นประจำจนเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว  ความรู้ที่ดับทุกข์ได้หรือปัญญา  ก็จะเกิดขึ้นมาตามทันความพอใจ  และไม่พอใจจึงดับความหลง  ดับความโลภ  และดับความโกรธ  หรือ ดับโลภะ  โทสะ  โมหะ  เมื่อดับเหตุของทุกข์หรือสมุทัยได้แล้ว  ก็ดับอวิชชาได้  เมื่อดับอวิชชาได้แล้ว ก็ดับความเกิดได้  มีปัญญา  รู้จริง  รู้แจ้ง ในอริยาสัจ ๔  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้
       ฉะนั้น พระธรรมที่เป็นทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  บอกทางไว้ให้คือ  การวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ ๕ และอินทรีย์ ๖  ให้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงที่มากระทบตัวของเรา  ในขณะปัจจุบันตามความจริงของโลกและชีวิต  คือกฎธรรมชาติ  ๒ กฎที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้นี้  เป็นเหตุของการตรัสรู้  รู้จริง  รู้แจ้ง  ในอริยสัจ ๔  มีปัญญาดับทุกข์ได้ถาวร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้