เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าโกศลมีพระโอรส ๒ พระองค์ กำลังมัวเมาในยศศักดิ์และความเป็นหนุ่ม ได้กระทำบาปกรรมคือคบหากับภรรยาของคนอื่น ทำกาละ (ตาย) แล้วบังเกิดเป็นเปรตที่หลังคู ในเวลากลางคืน เปรตทั้งสองนั้นพากันรำพันด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัว ชาวบ้านได้ฟังเสียงนั้นพากันสะดุ้งกลัว คิดว่าการถวายมหาทานจะทำให้อวมงคลสงบ จึงนิมนต์สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลเรื่องนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะได้ยินเสียงนั้น อันตรายอะไร ๆ ย่อมไม่มีแก่พวกท่าน นั้นเป็นเสียงที่เปรตราชกุมารทั้งสองร้องประกาศกรรมชั่วที่กระทำไว้ในกาลก่อน ข้อความนั้นมีว่า
เมื่อบุคคลผู้สมควรรับของทำบุญมีอยู่เป็นอันมาก และไทยธรรมอันเขาจัดเตรียมไว้ให้ก็มีอยู่ในที่ใกล้ พวกเราไม่อาจทำบุญอันนำมาซึ่งความสุขต่อไป แม้เพียงเล็กน้อย แล้วทำตนให้ปลอดภัยได้ อะไรจะพึงลามกกว่ากามอันเป็นเหตุให้พวกเราทำบาปกรรม เมื่อจุติ (ตาย) จากราชสกุลจึงไปบังเกิดในเปตวิสัย พรั่งพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อก่อนเคยเป็นเจ้าของในที่ใด บัดนี้ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก มนุษย์ทั้งหลายเจริญขึ้นแล้วกลับเสื่อมลง ย่อมตายเพราะความหิวและความกระหาย บุคคลรู้โทษอันเกิดจากความถือตัว (ว่าเป็นใหญ่) อย่างนี้แล้ว ละความมัวเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์
(อรรถกถากุมารเปตวัตถุ)
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดพอพระทัยในภรรยาของบุรุษผู้หนึ่ง ทรงวางอุบายหมายจะฆ่าบุรุษนั้น โดยรับสั่งให้ไปเอาดินสีอรุณมาก่อนเวลาเย็น ถ้าไม่ทันจะลงอาญา บุรุษนั้นนำดินสีอรุณกลับมาทัน แต่เข้าเมืองไม่ได้เพราะพระราชารับสั่งให้ปิดประตูเมืองแต่วัน จึงหนีราชภัยไปนอนที่วิหาร
คืนนั้นพระราชาไม่หลับตลอดคืน ทรงเร่าร้อนในกามเพราะหญิงนั้นเป็นเหตุ ทรงดำริว่า พรุ่งนี้เราจักให้ฆ่าบุรุษนั้นเสีย แล้วนำหญิงนั้นมา ตอนกลางดึกทรงได้ยินเสียงดังน่ากลัวว่า “ทุ สะ นะ โส”
รุ่งเช้าทรงเล่าให้ปุโรหิตฟัง ทั้งที่ไม่รู้ปุโรหิตทูลว่า ภัยจักมีแก่พระองค์ แล้วแนะนำให้พระราชาบูชายัญด้วย ช้าง ม้า และมนุษย์ พระนางมัลลิการู้ข่าวจึงทูลทัดทานว่า การได้ชีวิตตนเพราะการตายของคนอื่น พระองค์เคยเห็น ณ ที่ไหน จากนั้นชวนพระราชาไปพระเชตวัน แล้วทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องเสียงที่ได้ยิน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อันตรายไม่มีแก่พระองค์ เสียงนั้นเป็นเสียงสัตว์นรก ๔ ตน อดีตเป็นเศรษฐีบุตรมีทรัพย์มาก ต้องทุกข์ทรมานหมกไหม้ในอเวจีนรก ตลอดหนึ่งพุทธันดร ขณะนี้บังเกิดในโลหกุมภีนรก ด้วยผลกรรมที่ประพฤติผิดในทางกามกับลูกเมียคนอื่น พวกเขาต้องการกล่าว (ตนละคาถา) ว่า
เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ พวกเราไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า
เมื่อพวกเราพากันหมกไหม้ในนรก หกหมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี
ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ เพราะเรากับท่านได้กระทำบาปกรรมไว้มาก
เราพ้นไปจากที่นี่แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอสมบูรณ์ด้วยศีล จักทำกุศลให้มาก
พระราชาฟังแล้วสลดพระทัย ทรงดำริว่า การละเมิดภริยาผู้อื่นเป็นกรรมหนัก เพียงแค่คิดยังไม่อาจหลับตลอดคืนยันรุ่ง ชนทั้งสี่ต้องทุกข์ทรมานนานปานนี้ยังไม่พ้นบาปกรรม นับแต่นี้ไปเราจะไม่ผูกความพอใจในภริยาชายอื่น
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. อำนาจยศศักดิ์และทรัพย์เปรียบเหมือนดาบสองคมให้ทั้งคุณและโทษ ราชกุมารทั้งสองมัวเมาในยศศักดิ์ถือตัวว่าเป็นใหญ่ ใช้อำนาจแสวงหากามสุขในทางผิดศีลธรรม โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เมื่อถึงชีพิตักษัยก็บังเกิดเป็นเปรต เสวยผลแห่งบาปกรรมที่ทำไว้ เศรษฐีบุตรทั้งสี่ก็ใช้อำนาจทรัพย์เป็นเครื่องมือทำบาปกรรม ตายไปเกิดในนรกจัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ส่วนพระราชาทรงโชคดีที่มีพระอัครมเหสีเป็นกัลยาณมิตรคอยตักเตือน ประกอบกับได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงทรงสำนึกผิดกลับตัวทัน
๒. สิ่งที่ราชกุมารทั้งสองและเศรษฐีบุตรทั้งสี่เสียดายหรือเสียใจมากที่สุดคือ การที่ไม่ได้ทำบุญเลย ทั้งที่ของทำบุญและบุคคลที่ควรแก่ของทำบุญก็มีอยู่พร้อม มาสำนึกได้ก็สายเกินไปแล้ว แต่ก็เป็นนิมิตที่ดีแห่งภพชาติต่อไป
๓. การมีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทำความดีเลย จัดเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า ดังนั้นเมื่อมีโอกาสทำความดีก็อย่าได้ละเลย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง