หนีไม่พ้น     

      ครั้งหนึ่ง ภิกษุหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ระหว่างทาง ณ ตำบลหนึ่ง ชาวบ้านนิมนต์ให้นั่งฉันภัตตาหารในโรงฉัน ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งกำลังปรุงอาหาร เปลวไฟจากเตาได้ลุกไปติดชายคา เสวียน (ของเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อ) หญ้าอันหนึ่งอยู่ที่ชายคาก็ลุกไหม้ ปลิวไปในอากาศสวมคอของกาตัวหนึ่ง ซึ่งบินมาถึงพอดี กาถูกไฟไหม้ตกลงมาตาย

      เมื่อถึงพระเชตวัน ภิกษุพวกนั้นก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงบาปกรรมของกานั้น พระองค์ทรงเล่าว่า

      ในอดีต ชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตนไม่ได้ดังใจ โคเดินไปหน่อยหนึ่งก็นอนเสีย แม้เขาตีให้ลุกก็เดินไปหน่อยแล้วนอนเสียเหมือนเดิม ชาวนาโกรธมาก เอาฟ่อนฟางพันคอโค แล้วจุดไฟ โคถูกไฟคลอกตาย ด้วยอำนาจบาปกรรมนั้น เขาหมกไหม้ในนรกอยู่นาน และด้วยเศษบาปที่เหลือ เขาเกิดเป็นกาถูกไหม้ในอากาศมาถึง ๗ ครั้งแล้ว
                                                                  (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ เรื่องตโยชน)

ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
       ๑. แม้บุคคลจะทำบาปไว้ในที่ลับ หรือทำอย่างแนบเนียนจนไม่มีใครรู้เห็นเลย ก็ไม่อาจพ้นกรรมได้ เพราะการให้ผลของกรรม (ดีและชั่ว) เป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงเที่ยงตรงแน่นอน ไม่มีผิดพลาด ดังนั้นจึงไม่ควรทำบาปด้วยคิดว่า โอกาสกำลังดี ไม่มีใครเห็น

       ๒. เมื่อกรรมชั่วจะให้ผล แม้รู้ตัวก็หนีไม่พ้น เพราะไม่เคยมีใครสามารถหนีพ้นกรรมชั่วของตนได้เลย บุคคลอาจซ่อนตัวในที่ลับ จนสามารถหลบหนีกฎหมายบ้านเมืองได้ แต่ไม่อาจพ้นกรรมชั่วได้ ดังพุทธพจน์ในธรรมบท (๒๕/๑๙) ว่า

บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปในอากาศ ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ เขาอยู่แล้ว ณ ที่ใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ที่นั้นหามีอยู่ไม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้