เส้นทางสายใหม่ของชีวิต
       การดำเนินชีวิตด้วยทางสายใหม่นั้น เป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติของการเดินทางที่ถูกต้อง  เราต้องเข้าใจและรู้องค์ประกอบของการเดินทางของชีวิต จะต้องมีการศึกษาเรียนรู้วิธีการเดินทาง  เส้นทางที่จะเดินและตัวผู้เดินทางอย่างละเอียด เพราะแต่ละอันเป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  จะย่อหย่อนในทางใดทางหนึ่งไม่ได้ เพราะจะทำให้มีปัญหาขัดข้องเป็นอุปสรรคของการเดินทางทันที
       ฉะนั้นการเดินทางของชีวิต หรือการดำเนินชีวิตของคนเรา จะต้องทำความรู้จักตัวผู้เดินทางก่อนว่า ชีวิตคืออะไร เป้าหมายของชีวิตเราอยู่ที่ไหน แล้วเราจะรู้เรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร ก็ต้องใช้หลักของธรรมดาทั่วไป ว่าต้องเริ่มต้นที่การศึกษาเรียนรู้เรื่องชีวิตของตนเอง และเป้าหมายของชีวิตตนเองก่อน  แล้วความรู้อย่างนี้จะต้องศึกษาเรียนรู้จากที่ไหน  ผู้ใดเป็นผู้มีประสบการณ์ของชีวิตสูงสุดในโลกนี้  สามารถพาตัวเองหนีทุกข์ไปหาสุขถาวรได้สำเร็จ ผู้นั้นก็คือ พระพุทธเจ้า  พระองค์ท่านฝึกฝนตนเองมาถึง ๔ อสงขัย แสนมหากัป กับอีก ๖ ปี จึงประสบความสำเร็จ นำตัวพระองค์ท่านหนีทุกข์ไปหาสุขถาวรได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก  แล้วพระองค์ท่านก็ได้มอบประสบการณ์ชีวิตของท่านไว้ในพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปปฏิบัติ
       พระธรรมคำสอนของพระองค์ท่านที่ได้ตรัสรู้ว่าโลกและชีวิตเป็นธรรมชาติทั้งหมด ธรรมชาติทั้งหมดลงอยู่ในกฎธรรมชาติ ๒ กฎ  กฎแรกคือ กฎไตรลักษณ์  กฎที่ ๒ คือกฎเหตุปัจจัย หรืออิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท  สรุปกฎ ๒ กฎไว้ว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ  ไม่เที่ยงเกิดดับ นี่คือความจริงของโลกและชีวิต เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของโลกและชีวิตได้ ท่านก็ดับทุกข์ของท่านได้  ฉะนั้นความทุกข์ของมนุษญ์ก็คือความเชื่อ  จะต้องดับความเชื่อหรือความทุกข์ด้วยความจริงของโลกและชีวิต
       พระพุทธเเจ้าตรัสไว้ว่า ความทุกข์ของคนเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น  ทุกข์ของคนเราเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ดับมันที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  แล้วพระองค์ท่านก็บอกต่อไปว่า  เหตุที่เราทุกข์เพราะเราตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทัน จึงไปหลงพอใจไม่พอใจ สิ่งที่มากระทบสัมผัส ฉะนั้นคนเราตื่นขึ้นมา ลืมตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจคิดนึก ถ้าตามไม่ทันเราก็เก็บโลภ โกรธ หลง เข้าไปเป็นสัญญาความจำอยู่ในใจตลอดเวลา นี่คือเราบำเพ็ญข้อมูลสร้างทุกข์ให้กับตัวเรา ชีวิตของเราก็ต้องถูกลิขิตด้วยข้อมูลทุกข์ สมุทัยไปตลอด  คนเราจึงเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน
       นี่คือความรู้ที่คนเราต้องเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเอามาศึกษาเรียนรู้ตัวเอง เพราะคนเราไม่มีความรู้หรือข้อมูลจะเรียนรู้ตัวเองได้ เพราะไม่มีผู้ใดในโลกสอนไว้ นอกจากพระพุทธเจ้า เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้จากพระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้รู้จริงรู้แจ้งเรื่องโลกและชีวิตอย่างนี้แล้ว  เราก็เอาความรู้นี้มาศึกษาเรียนรู้ตัวเอง เราจะรู้จักตัวเอราเอง ว่าตัวเองเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ธรรมชาติต้องมีสองลักษณะเสมอ คือ มีกลางวันต้องมีกลางคืน มีดีต้องมีเสีย มีคนก็ต้องมีกายกับใจ เป็นของคู่กัน ฉะนั้นเราต้องศึกษาเรียนรู้ตัวเราทั้งสองตัว คือ ทั้งกายและใจ หรือรูปกับนาม จึงจะครบถ้วนตามธรรมชาติ
       ธรรมชาติของตัวเราคือ ร่างกายประกอบด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันชั่วคราวแล้วแตกสลาย เป็นธาตุไม่รู้ ในส่วนของจิตใจเป็นธาตุรู้ มีหน้าที่อยู่ ๔ อย่างคือ เวทนา(รับ)  สัญญา(จำ)  สังขาร(คิด)  วิญญาณ(รับรู้)  กายมี ๑ ขันธ์  ใจมี ๔ ขันธ์ รวมกันเป็นขันธ์ ๕  ขันธ์ ๕ นี่คือ ตัวของเราขณะนี้  เราจะรุ้ตัวเราแค่นี้ไม่พอ ต้องรู้ต่อไปว่า เวลาตัวของเราหลับเป็นอย่างไร แต่ถ้าเวลามันตื่นขึ้นมาจะเป็นอย่างไร กายกับใจมันทำงานร่วมกันอย่างไร  พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า เวลาคนเราตื่นขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  เปิดรับข้อมูลจากโลกภายนอกที่จะเข้ามาสู่ตัวของเรา แล้วเราก็จะออกไปสัมผัสโลกภายนอก ๓ ทางคือ ทางมโนกรรม  วจีกรรม  และกายกรรม  การที่โลกภายนอกมากระทบสัมผัสตัวเรา  ถ้าคนเราตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทันตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตแล้ว  ก็จะไปหลงพอใจ  ไม่พอใจต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัส  พอใจแปลว่าโลภ  ไม่พอใจแปลว่าโกรธ  ตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทันคือหลง  ก็หมายความว่า เราตื่นนอนขึ้นมาทุกครั้ง เราเติมโลภ โกรธ หลงเข้าไปในใจเป็นสัญญาความจำที่สร้างทุกข์ให้กับตัวเราตลอดเวลา มันเป็นอย่างนี้ ข้อมูลสร้างทุกข์ จึงเป็นข้อมูลกำกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน
       เมื่อข้อมูลสัญญาความจำเป็นข้อมูลสร้างทุกข์ คือ ข้อมูลความพอใจ ไม่พอใจ หรือข้อมูลโลภ โกรธ หลง เวลาอะไรกระทบสัมผัส สติก็จะไปลากเอาสัญญาความจำสร้างทุกข์ไปให้ใจคิดปรุงแต่งทุกข์ตามข้อมูล แล้วใจก็สั่งร่างกายไปทำตามข้อมูลสร้างทุกข์นั้น  ฉะนั้นเราจะเห็นว่าวัฏจักรการสร้างทุกข์ของคนเรา จึงไม่มีที่สิ้นสุด  เมื่อมาถึงตรงนี้ เราพอจะเข้าใจได้ว่า ตัวเราสั่งการตัวเราอะไรไม่ได้เลย  ข้อมูลสัญญาความจำ หรือวิบากกรรมที่เราทำไว้เป็นผู้สั่งให้เราดำเนินชีวิตไปตามข้อมูลนั้น  เราไม่สามารถจะบิดพริ้วได้เลย คนเราจึงเดินทางสายเก่าแก่ที่เราเดินมานับภพนับชาติไม่ถ้วนตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของเราได้เลย  เส้นทางนี้เรียกว่า เส้นทางสร้างทุกข์ หรือเส้นทางของทุกข์และสมุทัยในอริยสัจ ๔  เรายังจะดำเนินชีวิตตามเส้นทางดั้งเดิมของเราต่อไป หรือว่าเราจะเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่  เราจะต้องศึกษาเรียนรู้เส้นทางที่เราจะไปให้เข้าใจถ่องแท้ก่อน  เพื่อไม่ให้เกิดความลังเลสงสัยในระหว่างเดินทางของเรา
       เส้นทางสายใหม่ที่เราจะเดินเรียกว่า เส้นทางสร้างสุขดับทุกข์ (นิโรธและมรรค) ในอริยสัจ ๔  ที่พระพุทธเจ้าสรุป พระธรรมคำสอนของพระองค์ท่านไว้ในอริยสัจ ๔  ให้คนเรารู้ว่า ทางเดินของชีวิตมี ๒ ทาง คือทางสร้างทุกข์ (ทุกข์, สมุทัย) และทางสร้างสุขดับทุกข์ (นิโรธ, มรรค)  ทีนี้เราก็ได้ทราบการเดินทางของตัวเราเองแล้วว่า เราเดินทางผิดไปหลงเดินทางสร้างทุกข์มาตลอด แล้วเราจะเดินทางสายใหม่นี้ได้อย่างไร  เราต้องมาศึกษาเรียนรู้วิธีเดินทางของพระพุทธเจ้าไว้เป็นทางสายเอกว่า  ผู้ใดต้องการไปถึงเป้าหมายของชีวิตคือ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องปฏิบัติตามทางสายเอกนี้คือ การวิปัสสนาภาวนาสติปัฏฐาน ๔
       การวิปัสสนาภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ต้องรู้ความหมายของอัตถะพยัญชนะอันนี้ทั้ง ๒ ส่วนว่า  วิปัสสนาภาวนาแปลว่าอะไร  วิปัสสนาภาวนาแปลว่า ท่องจำความจริงของโลกและชีวิต ตามกฎธรรมชาติ ๒ กฎ  สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับ ท่องจำจนความจริงของโลกและชีวิต ไม่เที่ยงเกิดดับเข้าไปเก็บเป็นสัญญาความจำไว้ในใจของเราก่อน  แล้วจึงจะไปถึงส่วนที่ ๒ คือ พิจารณา สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง สติไประลึกดึงเอาข้อมูลความจริงที่ดับทุกข์ได้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาคิด สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับไปพิจารณา กายในกาย คือให้เห็นตามเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยงเกิดดับ เวทนาในเวทนา คือความพอใจภายในภายนอกมันไม่เที่ยงเกิดดับ เรียกว่าเห็นตามจริงตามที่มันเป็น จิตในจิต คือความสุขภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ  ธรรมในธรรม คือธรรมชาติภายในภายนอกไม่เที่ยงเกิดดับ
       นี่ก็หมายถึงว่าเราเห็นความจริงของโลกและชีวิตถูกต้องครบถ้วน ว่ามันอยู่ในกฏธรรมชาติ ๒ กฎ คือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเกิดด้บอยู่ตลอดเวลา  ที่เราท่องคำว่า ตาเห็นรูปไม่เที่ยงเกิดดับ ไปจนถึงใจคิดนึกไม่เที่ยงเกิดดับ หมายความว่า เราเห็นโลกและชีวิตถูกต้อง เพราะโลกและชีวิตเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  การท่องไม่เที่ยงเกิดดับเป็นการตามทันสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดับความเห็นผิดที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ทันทีที่ถูกกระทบสัมผัส เรียกว่า นิโรธ  แล้วเราก็เดินทาง นี้คือท่องและตามทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสที่อินทรีย์ ๖ ของเราตลอดเวลา เรียกว่า มรรค  หรือทางเดินที่ถูกต้อง นี่คือเส้นทางสายใหม่ในการดำเนินชีวิต เรียกว่า เส้นทางสร้างสุขดับทุกข์ถาวรของพระพุทธเจ้า (นิโรธ มรรคปฏิปทา)
       ในขณะนี้มาถึงตรงนี้แล้ว เราได้ข้อมูลของการเดินทางพร้อมแล้ว รวมทั้งข้อมูลของตัวผู้เดินด้วย ที่บอกว่าเราต้องรู้วิธีเดินทางไปสู่จุดหมาย ต้องรู้เส้นทางเดิน ต้องรู้คนบอกทาง แล้วรู้ตัวผู้เดินทางด้วยนั้น ต่อจากนี้ไปเราพร้อมจะเดินทางแล้วหรือยัง  ระหว่างที่กำลังเดินทางสายใหม่นี้ เราต้องหมั่นศึกษาเพิ่มเติม ความรู้ทางธรรมตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลการเดินทางของเราไม่สะดุด  ฉะนั้นการศึกษาพระธรรมเพิ่มเติม และมาปฏิบัติบูชาต่อหน้าพระพุทธเจ้าถือว่าขาดไม่ได้ เราต้องทำให้ต่อเนื่อง  นี่คือเหตุผลของทางธรรม เพราะธรรมชาติมีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม ทั้ง ๒ อย่างนี้ต่อสู้กันตลอดเวลาในวิถีชีวิตของคนเรา ฝ่ายใดชนะฝ่ายนั้นเป็นผู้กำหนดทิศทางในการเดินของชีวิตเรา ทางเดินก็มีสองทาง คือ ทางผิดกับทางถูก  ตอนนี้เราเลือกทางถูกเป็นทางสายใหม่ เราต้องเดินต่อไปไม่หยุดจนกว่าจะถึงเป้าหมายของชีวิต คือ สุขถาวรหรือนิพพาน
       ทางสายใหม่นี้เรียกว่า ทางสายสร้างสุขดับทุกข์ถาวร หรือนิโรธ มรรคปฏิปทาที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวกได้ใช้เส้นทางนี้ เดินไปจนประสบความสำเร็จมาแล้ว  ถ้าเราจะเดินทางสายใหม่นี้ จะต้องเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ หนังสือเล่มนี้ได้บอกทางเดินและเป้าหมาย บอกวิธีเดินทาง บอกปัญหาอุปสรรคของการเดินทาง และบอกเรื่องราวของตัวผู้เดินทางไว้ครบถ้วน  ถ้าพวกเราเดินทางสายนี้ ก็จะพบความสำเร็จเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านสำเร็จมาแล้วอย่างแน่นอน
       เมื่อเรารู้แล้ว ทำไมต้องรอคอยอะไรอีก ความแก่ ความเจ็บ ความตายของเราไม่รอเรานะ วันเวลาก็ไม่รอเรา แต่ละอย่างมันมีข้อจำกัดของตนเอง วันนี้เป็นวันสำคัญของชีวิตเรา ที่จะะพาตนเอง หนีออกจากทางสายเก่า (ทางสร้างทุกข์ถาวร) ไปสู่เส้นทางสายใหม่ คือ สายดับทุกข์สร้างสุขถาวร
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้