กำเนิดฤาษีในแผ่นดินไทย

Last updated: 26 ธ.ค. 2566  |  270 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กำเนิดฤาษีในแผ่นดินไทย

กำเนิดฤาษีในแผ่นดินไทย

       ดอยไซ ตั้งอยู่ บ้านหนองไซ หมู่ ๑๔ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน  ระยะห่างตัวเมืองลำพูน ๑๐ กิโลเมตร  อยู่ทางทิศใต้ของเมืองลำพูน   เป็นสถานที่กำเนิดของฤาษีในแผ่นดินไทยเป็นแห่งแรก  ฤาษีท่านนับถือพระพุทธเจ้า  เรียกว่าฤาษีพุทธ  หรือฤาษีพุทธชฎิล หรือฤาษีนารท  มีมาตั้งแต่ยุคของเมืองลพะหรือลำพูนในปัจจุบัน  ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๐๐ เป็นต้นมา  ในยุคนี้เมืองลพะมีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองถึง ๑๐ พระองค์ (นักประวัติศาสตร์ยังศึกษาไปไม่ถึง)  โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๙๐๐-๑๑๗๖  รวม ๒๗๖ ปี  ในระหว่าง พ.ศ. ๙๔๕-๑๐๗๙  พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสูงสุด  มีพระอรหันต์เข้ามาอยู่และเกิดพระอรหันต์ขึ้นในยุคถึง ๒๔ องค์ มีอุบาสก อุบาสิกามาปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนากันมากมาย  ในสมัยของพระยาถะระกษัตริย์เมืองลพะ รัชกาลที่ ๔  มีนางอะระพะเป็นพระมเหสี  มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ อุบาสกสัญชัย ปฏิบัติธรรมได้สมาธิอภิญญาชั้นสูง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป  รวมไปถึงพระนางอะระพะมเหสีของพระยาถะระด้วย  ต่อมาเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานไปหมดแล้ว พ.ศ. ๑๐๗๙  ทางฝ่ายสงฆ์ในสมัยนั้นอ่อนแอลงไป  ชาวบ้านก็หันไปนับถืออุบาสกสัญชัยกันมาก  ต่อมาชาวบ้านเรียกอุบาสกสัญชัยว่า ฤาษีสัญชัย  นี่คือจุดกำเนิดฤาษีพุทธคนแรกในประเทศไทย  ฤาษีสัญชัยได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไว้มาก  ตลอดจนถึง พ.ศ. ๑๐๘๐  ฤาษีสัญชัยได้เสียชีวิตลง  ก็ได้มีสุกกทันตฤาษีลูกศิษย์รับช่วงเป็นหัวหน้าสำนักต่อ  ซึ่งมีอายุเพียง ๒๐ ปี  แต่ได้สำเร็จสมาธิฌานอภิญญาชั้นสูง  ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์มาโดยตลอดเช่นกัน  จนถึงปี พ.ศ. ๑๑๔๐  สุกกทันตฤาษีเสียชีวิตลง  ก็ได้มีลูกศิษย์ของท่านรับช่วงเป็นหัวหน้าสำนักต่อ  ลูกศิษย์คนนั้นคือ สุเทวฤาษี  อายุ ๒๐ ปีเช่นกัน  ท่านสำเร็จ สมาธิ ฌาน อภิญญาชั้นสูง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักต่อมา

       สำนักของฤาษีพุทธตั้งแต่ฤาษีสัญชัยเป็นต้นมา เมื่อสุเทวฤาษีเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. ๑๒๑๐  ก็ได้มีลูกศิษย์ของท่านสุเทวฤาษี ๓ คน ทำหน้าที่บริหารอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ต่อไป  ลูกศิษย์ของสุเทวฤาษี คือ ฤาษียะ (ยืน)  ฤาษีวะ (วัน)  ฤาษีคะ (คง) เมื่อฤาษีทั้ง ๓ เสียชีวิตไปแล้ว สำนักฤาษีดอยไซก็ล่มสลายลง  ฤาษีที่เป็นลูกศิษย์อยู่ที่ดอยไซก็ได้แยกย้ายกันไป อยู่ในที่ต่าง ๆ ตั้งสำนักสั่งสอนลูกศิษย์ไปทั่วประเทศไทย  มีสำนักใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก ที่เจริญรุ่งเรืองต่อมาก็คือ

      ๑. สำนักฤาษีที่กำแพงเพชร  มีลูกศิษย์ของสำนักนี้ได้สมาธิ ฌาน อภิญญาชั้นสูง คนหนึ่งชื่อ ฤาษีสุทัศน์  ฤาษีสุทัศน์นี้ต่อมาได้สร้างพระเครื่องพระบูชาขึ้นมากมายในกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง  โดยเอาพระธาตุของสุกกทันตฤาษี เป็นส่วนประกอบของพระ เช่นซุ้มกอ เป็นต้น

      ๒. สำนักฤาษีที่ลพบุรี  มีลูกศิษย์ของสำนักนี้ได้บรรลุสมาธิ ฌาน อภิญญาชั้นสูง คนหนึ่งชื่อ ฤาษีสุธรรม  ต่อมาได้สร้างพระเครื่องพระบูชาขึ้นมากมายในภาคกลางทั้งหมด  โดยเอาพระธาตุของสุกกทันตฤาษี เป็นส่วนประกอบ เช่น พระผงสุพรรณ เป็นต้น

      สำนักฤาษีที่กำแพงเพชรและที่จังหวัดลพบุรี  เกิดขึ้นในสมัยเดียวกัน คือ ปี พ.ศ. ๑๕๐๐  เมื่อฤาษีสุธรรมเสียชีวิตไปแล้ว ได้ว่างเว้นฤาษีที่สำเร็จสมาธิฌานอภิญญาชั้นสูง ไปถึง ๒๐๐-๓๐๐ ปี

      ๓. ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๐๐  สำนักฤาษีพุทธที่สุโขทัยได้กำเนิดฤาษีองค์ใหม่เกิดขึ้นคือ ฤาษีสุโข  ได้ สมาธิฌานอภิญญาชั้นสูง ได้สร้างพระเครื่องพระบูชาไว้มากมายเช่นกัน  ในจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก  โดยเอาพระธาตุ ของสุเทวฤาษี เป็นส่วนประกอบของพระ  เช่น พระนางพญา พิษณุโลก เป็นต้น

      ฤาษีสุทัศน์  ฤาษีสุธรรม  ฤาษีสุโข  ทั้ง ๓ ท่านนี้  เป็นผลพวงต่อจากสำนักฤาษีดอยไซ ลำพูนทั้งหมด  ถ้าลำดับฤาษีพุทธ ที่ได้สร้างพระเครื่องพระบูชาไว้เป็นหลักฐานขึ้นไว้ในแผ่นดินไทยแล้วมี ๙ องค์ด้วยกัน  การสร้างพระเครื่องพระบูชาของท่านที่เอาพระธาตุของฤาษีพุทธ มาเป็นองค์ประกอบ หรือส่วนผสมในองค์พระ  ทำให้มีพระพุทธคุณยืนยาว  ท่านเหล่านี้เป็นต้นแบบในการสร้างพระลักษณะนี้  พระเครื่อง พระบูชา พระประธานตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ที่มีพุทธคุณหรือมีพลัง  ถ้าตรวจสอบด้วยญาณแล้ว จะรู้ได้ว่ามีพระธาตุของฤาษีพุทธดังกล่าวข้างต้น  องค์ใดองค์หนึ่งเป็นส่วนประกอบทั้งนั้น อัฏฐิธาตุของฤาษีเหล่านี้เก็บไว้ในที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

      ๑. ฤาษีสัญชัย  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๑๐๘๐  อายุได้ ๘๐ ปี  อัฏฐิธาตุของท่านเก็บไว้ที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่  คือพระธาตุดอยสุเทพในปัจจุบัน

      ๒. สุกกทันตฤาษีเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๖๐ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๑๔๐ รวมอายุได้ ๘๐ ปี  อัฏฐิของท่านเก็บไว้ที่เกาะคา จังหวัดลำปาง คือพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน เป็นที่เก็บอัฏฐิของท่าน

      ๓. สุเทวฤาษี  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๒๐  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๒๑๐  อายุได้ ๙๐ ปี อัฏฐิของท่านเก็บไว้ ๒ แห่ง  คือ ที่ยอดดอย พระบาทดอยไซใกล้สำนักของท่าน  และบริเวณใจกลางเมืองลำพูน  ซึ่งพระนางจามเทวีเอามาบรรจุไว้ในปัจจุบัน ก็คือ พระธาตุหริภุญชัย  พระธาตุหริภุญชัยนี้เป็นที่เก็บอัฏฐิของท่าน

      ๔. ฤาษียะ (ยืน)  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๔๘  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๒๒๓  อายุ ๗๕ ปี  อัฏฐิของท่านเก็บไว้ ๒ แห่ง  แห่งแรกเก็บไว้ที่สำนักของท่าน คือ ที่วัดดงฤาษี  อำเภอบ้านโฮ่งในปัจจุบัน  และอีกที่หนึ่งคือ ทางทิศตะวันออกของเมืองลำพูน คือ วัดพระยืนในปัจจุบัน  พระนางจามเทวีและพระโอรส เป็นผู้สร้างที่บรรจุทั้ง ๒ แห่ง  เพราะฤาษียะเป็นพี่เลี้ยงของนางตอนเป็นเด็กคนหนึ่ง

      ๕. ฤาษีวะ (วัน)  ชื่อเดิมวัน  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๓  เป็นน้องชายของฤาษียะ  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๑๒๒๕  อายุได้ ๗๒ ปี อัฏฐิธาตุของท่านเก็บไว้ ๒ แห่ง  แห่งแรกเก็บไว้ที่วัดดงฤาษี  อำเภอบ้านโฮ่ง เช่นกัน  อีกส่วนหนึ่งพระนางจามเทวี กับพระโอรสได้นำมาเก็บไว้ทางทิศตะวันตก เขตเมืองลำพูน คือ  วัดมหาวันปัจจุบัน  ฤาษีวะเป็นพี่เลี้ยงของพระนางจามเทวี เช่นกัน

      ๖. ฤาษีคะ (คง)  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๖  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๒๒๖  อายุได้ ๗๐ ปี  อัฏฐิธาตุของท่านเก็บไว้ ๒ แห่ง เช่นกัน  คือ ที่บริเวณดอยไซ ใกล้ ๆ ของสุเทวฤาษี  เพราะท่านเป็นเจ้าสำนักดอยไซ ต่อจากสุเทวฤาษี  อีกส่วนหนึ่งของอัฏฐิธาตุ  พระนางจามเทวีกับพระโอรส ได้นำมาเก็บทางทิศเหนือของเขตเมืองลำพูน คือ วัดพระคงฤาษีในปัจจุบัน

      สุเทวฤาษี  ฤาษียะ  ฤาษีวะ  ฤาษีคะ  พระนางจามเทวีรักและเคารพมาก  เพราะเป็นผู้ให้ชีวิต ให้เมืองแก่พระองค์ท่าน  พระนางจามเทวี จึงเป็นผู้จัดการงานศพ และอัฏฐิธาตุของฤาษีทั้ง ๔ องค์  เพราะฤาษีทั้ง ๔ ท่าน เป็นผู้เลี้ยงดูพระนางจามเทวีมาตั้งแต่อายุ ๓ เดือนเป็นต้นมา  ท่านให้การศึกษา ให้บ้านเมืองปกครอง

      ๗. ฤาษีสุทัศน์  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๖  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๕๗๖  อายุได้ ๗๐ ปี  ที่จังหวัดกำแพงเพชร

      ๘. ฤาษีสุธรรม  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๕  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๐  อายุ ๗๕ ปี  ที่จังหวัดลพบุรี  อัฏฐิธาตุของท่านเก็บไว้ที่วัดพระธาตุ จังหวัดลพบุรี  และพระธาตุที่สำคัญในจังหวัดใกล้เคียง  รวมทั้งภาคอีสานด้วย

      ๙. ฤาษีสุโข  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕  เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๑๘๗๗  อายุ ๗๒ ปี ที่จังหวัดสุโขทัย  อัฏฐิธาตุของท่านเก็บไว้ที่ศรีสัชนาลัย  จังหวัดสุโขทัย  ต่อมาก็ได้นำอัฏฐิธาตุของท่าน ไปบรรจุตามพระธาตุต่าง ๆ ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น  พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่,  พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน,  พระธาตุหนองจันทร์ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

หมายเหตุ  พระธาตุสำคัญ ๆ ของทุกภาคในประเทศไทย  บรรจุอัฏฐิธาตุของฤาษีที่กล่าวมาข้างต้น ไม่องค์ใดก็องค์หนึ่ง  แต่ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่เลย  แม้แต่พระธาตุของพระอรหันต์ก็ไม่มี...

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้