Last updated: 9 มิ.ย. 2563 | 716 จำนวนผู้เข้าชม |
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี ชาวพระนครได้ไปขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว เมื่อถึงวันนัด ถามอาชีวก (นักบวชชีเปลือย) ผู้คุ้นเคยกันว่า วันนี้พวกผมจักทำการมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้กลับถามเรา ต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง จึงพูดว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคลเลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่ พวกเขาหลงเชื่อ จึงไม่ไปรับเจ้าสาวในวันนั้น
ฝ่ายชาวชนบทจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นชาวพระนครมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจะต้องไปคอยคนเหล่านั้น (ให้โง่) แล้วก็ยกธิดาของตนให้ตระกูลอื่นไป รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมารับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่าเป็นชาวเมืองแต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้วแต่ไม่มาตามกำหนด พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว พวกชาวเมืองกล่าวว่า เพราะฤกษ์ไม่ดี จึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด ชาวชนบทแย้งว่า เจ้าสาวยกให้คนอื่นไปแล้ว จะนำตัวคืนมาได้อย่างไร
ขณะนั้นบัณฑิตชาวเมืองผู้หนึ่งผ่านมาได้ยินพวกชาวเมืองกล่าวว่าไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้วไม่ใช่หรือ แล้วกล่าวว่า
คนโง่มัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมล่วงเลยเขาไปเสีย ประโยชน์ก็คือตัวฤกษ์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้
(อรรถกถานักขัตตชาดก เอกนิบาต)
13 พ.ย. 2562
13 พ.ย. 2562
16 พ.ย. 2562
13 พ.ย. 2562