อวิชชา(1)

Last updated: 26 ธ.ค. 2566  |  192 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อวิชชา(1)

อวิชชา (1)

           อวิชชาหรือความไม่รู้  - คนเราเกิดมาจากอวิชชา  มันอยู่ในตัวของเราตั้งแต่เกิด  หรือก่อนเราจะมาเกิดเป็นคน  มันพัฒนาตัวมัน  อย่างละเอียดลึกซึ้งเป็นลำดับ  ไปจนถึงนิสัยใจคอ  ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา  ถ้าเราไม่หยุดดูมันให้ดี ๆ หรือช้า ๆ เราจะไม่รู้เลยว่า  ตัวเราทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วยอวิชชาทั้งหมดในแต่ละวันไปตลอดชีวิต  คนเราเกิดแล้วตายไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน  เราก็ยังไม่รู้ว่าเราถูกขับเคลื่อนด้วยอวิชชา  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาเกิดในโลกนี้  เราจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่า  ตัวเราคืออวิชชา

           อวิชชามันพัฒนาตัวของมันไปไกล  จนพวกเราไม่รู้จักอวิชชา  ดังนี้
          *อวิชชา  พัฒนาเป็น  โลภะ  โทสะ  โมหะ
          *โลภะ  โทสะ  โมหะ  พัฒนาเป็น  ความพอใจ  ไม่พอใจ
          *ความพอใจ  ไม่พอใจ  พัฒนาไปเป็น  ความรู้สึกนึกคิด
          *ความรู้สึกนึกคิด  พัฒนาไปเป็น  ความไม่รู้
          *ความไม่รู้  พัฒนาไปเป็น  ชื่อ  วัตถุ  สิ่งของ  สัตว์  บุคคล
          *ชื่อ  พัฒนาไปเป็น  ตัวหนังสือ

           เมื่อเอาชื่อและตัวหนังสือไปทำซ้ำ  ก็จะพัฒนาไปเป็นความยึดมั่นถือมั่น  จากการยึดมั่นถือมั่น  ก็จะพัฒนาไปเป็นตัวกูของกู  ตัวกูของกูก็คืออวิชชา

           เมื่อโลภะ  โทสะ  โมหะ  หรือ  โลภ  โกรธ  หลง  พัฒนาไปเป็นความพอใจ  ไม่พอใจ  มาถึงจุดนี้แล้ว  ไม่มีใครรู้เลยว่า  ความพอใจ  ไม่พอใจก็คืออวิชชา  มันละเอียดลึกซึ้ง  ยิ่งพัฒนาไปเป็นความรู้สึกนึกคิดนั้น  ยิ่งละเอียดกว่าความพอใจ  ไม่พอใจ  แล้วต่อไปความรู้สึกนึกคิด  พัฒนาไปเป็นชื่อ  บุคคล  สิ่งของและตัวหนังสือ  เรายิ่งไม่รู้เลยว่า  ชื่อและตัวหนังสือนั้นคืออวิชชา  คนเราก็เอาไปทำซ้ำ  จนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น  เป็นตัวกูของกู

           ตัวเรามีอวิชชาหรือความไม่รู้  กำกับการดำเนินชีวิตของคนเราทุกคน  การดำเนินชีวิตด้วยอวิชชาในทางมโนกรรม  วจีกรรม  และกายกรรม  แต่ละวันคนเราบำเพ็ญอกุศลกรรมตลอดเวลา  น้อยครั้งการดำเนินชีวิตของเราจะเป็นกุศลกรรม  บวกลบกันแล้ว  แต่ละวันคนเราทำอกุศลกรรม  มากกว่ากุศลกรรม  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  คนเราเวียนว่ายตายเกิด  มานับภพนับชาติไม่ถ้วน  ก็เพราะว่าคนเราเจริญเหตุปัจจัยในการเวียนว่ายตายเกิดตลอดเวลา  ไม่ได้หยุด  เพราะความไม่รู้หรืออวิชชากำกับชีวิตคนเรา  แม้แต่จะมาเกิดเป็นคน  แต่ละชาติก็ยากเย็นแสนเข็ญ  คนเราไม่ได้เกิดมาง่าย ๆ  ถ้าไม่มีบุญกุศลไม่ได้เกิดมาเป็นคน  เรียงลำดับของการเกิด ดังนี้
     *เกิดมาเป็นมนุษย์  เป็นอันดับ 1
     *เกิดเป็นเทวดา  อินทร์  พรหม  เป็นอันดับ 2
     *เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  เป็นอันดับ 3
     *เกิดเป็นพวกผีเปรต  เป็นอันดับ 4
     *เกิดเป็นสัตว์นรก  เป็นอันดับ 5

           คนเราที่เกิดมาในขณะนี้  น้อยคนหรือเกือบจะไม่มีเลย  ที่จะบำเพ็ญตนเองให้ได้เกิดเป็นคนอีก  มีแต่บำเพ็ญไปนรกเดรัจฉานเป็นส่วนมาก  เพราะคนเราไม่เข้าใจว่า  ความพอใจ ไม่พอใจ ที่ทุกคนแสวงหานั้น  นำพาตนเองไปเกิดในนรกเดรัจฉาน  แต่ละคนตื่นมาแต่ละวัน  ก็อยากไปแสวงหาความพอใจ ไม่พอใจ (อวิชชา) ไม่หยุดหย่อน  เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่า  สิ่งที่ตนเองไปแสวงหานั้น  คือเหตุปัจจัยของการสร้างทุกข์ให้กับตนเอง  เพราะพวกเขาไม่พบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่ตรัสรู้ฝากไว้ให้กับมนุษย์  เอาไปฝึกฝนตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ 

           ทุกข์คือความเกิด  ถ้าเกิดอยู่ก็ต้องทุกข์ตลอดไป  ถ้าดับการเกิดได้  ก็ดับทุกข์ได้  ดับความเกิดได้  ก็ดับอวิชชาได้  อวิชชาเกิดที่ไหน  เกิดที่ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เกิดเพราะตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทัน  ไปหลงพอใจ  แปลว่าโลภ  ไม่พอใจแปลว่าโกรธ  ตามไม่ทันแปลว่าหลง  โลภโกรธคือทุกข์ ในอริยสัจ 4  ตามไม่ทันคือหลง  ก็คือสมุทัยในอริยสัจ 4  ถ้าตามทัน ทุกข์ก็ไม่เกิด  ตามทันแปลว่านิโรธ  ตามทันเป็นประจำ เรียกว่า มรรคปฏิปทา  หรือทางดับทุกข์  หรือทางดับอวิชชา

           พระพุทธเจ้าได้วางทางดับทุกข์ไว้คือ  การวิปัสสนาภาวนาขันธ์ 5 อินทรีย์ 6  คือ ท่องจำกฎธรรมชาติ 2 กฎ  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  สรุปว่าไม่เที่ยงเกิดดับ  กำกับการกระทบสัมผัสทางอินทรีย์ 6  ให้ตามทันโลกภายนอก  ที่มากระทบสัมผัสตัวของเราว่า  มันไม่เที่ยงเกิดดับ  เพื่อดับความพอใจ  ไม่พอใจที่จะเกิดขึ้นตามมากับการกระทบสัมผัส  นั่นคือทุกข์เกิดที่ไหน  ให้ดับที่นั่น  พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้

           เมื่อคนเราใส่ข้อมูลกฎธรรมชาติ 2 กฎเข้าไว้ในใจแล้ว  (ข้อมูลสั่งใจ  ใจสั่งร่างกาย)  แล้วก็เอาข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับ  ไปพิจารณาโลกและชีวิต  หรือกาย  เวทนา  จิต  ธรรม  หรือสติปัฏฐาน 4  ให้รู้เห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริงว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  เกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว  แล้วแตกสลาย  ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  ว่างเปล่าจากตนและของของตน  แล้วความเบื่อหน่ายละคลาย  ก็จะเกิดขึ้น  แล้วก็ดับอวิชชา  หรือทุกข์ถาวรได้

           การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกจำนวน 45 เล่ม  ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของท่านให้จบ  84,000  พระธรรมขันธ์  แล้วเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่านด้วยว่า  พระธรรมคำสอนสูตรไหนเป็นพระธรรมส่วนเป็นเหตุ  และสูตรไหนเป็นพระธรรมคำสอนส่วนที่เป็นผล  พระธรรมสูตรไหนสอนอริยบุคคล  สูตรไหนสอนคนธรรมดาทั่วไป  สูตรไหนเป็นคำย่อ  ถ้ารู้ว่าเป็นคำย่อแล้ว  ต้องรู้ว่าคำเต็มเป็นอย่างไร

           พระธรรมคำสอน  84,000 พระธรรมขันธ์นั้น  ส่วนมากเป็นผลของการตรัสรู้  ไม่ใช่เป็นพระธรรมส่วนที่เป็นเหตุ  รู้ได้อย่างไร  รู้ได้โดยเห็นว่าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะพระองค์ไม่ได้สอนธรรมเลย  แต่พอตรัสรู้แล้ว  พระองค์ท่านสอนพระธรรมคำสอน  84,000 พระธรรมขันธ์  ฉะนั้นพระธรรมคำสอน  84,000 พระธรรมขันธ์  จึงเป็นผลของการตรัสรู้  จะเอาไปปฏิบัติทันทีโดยไม่พิจารณา  แล้วก็เอาพระธรรมคำสอนส่วนที่เป็นผลไปปฏิบัติ  ทำให้เป็นการปฏิบัติธรรม  ไม่ถูกธรรม  จึงทำให้ไม่มีการบรรลุธรรม  ไม่มีดวงตาเห็นธรรม  จึงละอวิชชาไม่ได้ 

           ถ้าต้องการดับอวิชชา  หรือละอวิชชาได้นั้น  ต้องปฏิบัติธรรมถูกธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น  ปฏิบัติอย่างไร  ปฏิบัติโดยเอาพระธรรมส่วนที่เป็นเหตุของการตรัสรู้มาวิปัสสนาภาวนา  กำหนดรู้สติปัฏฐาน 4  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร  ตรัสรู้ว่าโลกและชีวิตเป็นธรรมชาติทั้งหมด  ธรรมชาติทั้งหมด ลงในกฎธรรมชาติ 2 กฎ  คือกฎไตรลักษณ์  และกฎเหตุปัจจัย  หรืออิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท  ไม่มีอะไรบังเอิญ  มีเหตุปัจจัยให้เกิด  ก็เกิด  มีเหตุปัจจัยให้ตั้งอยู่  ก็ตั้งอยู่  มีเหตุปัจจัยให้แตกสลาย  ก็แตกสลาย  สรุปกฎธรรมชาติ 2 กฎนี้ว่า  ไม่เที่ยงเกิดดับ 

           เอาไม่เที่ยงเกิดดับ  ไปวิปัสสนาท่องจำ  ผ่านตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เอาเก็บไว้เป็นข้อมูลสัญญาความจำไว้ในใจ  แล้วเอาสัญญาความจำไม่เที่ยงเกิดดับ  ไปกำหนดรู้สติปัฎฐาน 4  หรือโลกและชีวิต  ให้เห็นตามที่มันเป็นจริงที่มันเป็น  ไม่มีความพอใจ  ไม่พอใจไปเกี่ยวข้องในขณะที่ถูกกระทบสัมผัสทางอินทรีย์ 6  ท่องจำไม่เที่ยงเกิดดับบ่อย ๆ เนือง ๆ ข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับ  เข้าไปแทนความเห็นผิด  คือความพอใจและไม่พอใจ  ในที่สุด  ก็จะดับความเห็นผิด  ความเป็นอริยะบุคคลโสดาบันบุคคลก็จะเกิดขึ้น

           อวิชชาที่มันพัฒนามาเป็นความพอใจ  ไม่พอใจ  มันละเอียดลึกซึ้งมาก  จนคนเราไม่รู้เลยว่า  ความพอใจ คือโลภ  ความไม่พอใจ คือโกรธ  ตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสไม่ทัน คือหลง  ถ้าตรวจดูตัวเราแต่ละวันที่ตื่นขึ้นมา  เราจะพบว่าคนเราเอาความพอใจ  ไม่พอใจนำหน้าตลอดเวลา  โดยแต่ละคนไม่รู้สึกตัวเลย  หมายความว่า  คนเราตื่นมาก็ใส่เหตุปัจจัยให้ตัวเอง เวียนว่ายตายเกิดตลอดเวลา  หรือใส่เหตุปัจจัยสร้างทุกข์ให้กับตนเอง  ทำอย่างนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วน 

           ถ้าเราไม่แก้ไข  ใส่เหตุปัจจัยดับการเวียนว่ายตายเกิดลงไป  คนเราก็จะต้องเดินไปเวียนว่ายตายเกิดต่อไป  หาที่สิ้นสุดไม่ได้  ถ้าเรารู้ตัวเราอย่างนี้  น่ากลัวมาก ๆ  เพราะคนเราแต่ละวันตื่นมาก็ออกไปแสวงหาความพอใจ ไม่พอใจตลอดวัน  แต่ไม่มีผู้ใดถามตัวเองว่า  ทำไมเราจึงทำอย่างนี้  เหตุผลก็คือความพอใจ  ไม่พอใจที่คนเราสั่งสมมา  มันได้กลายเป็นพฤติกรรมของความเคยชินในชีวิตประจำวัน  ความพอใจ  ไม่พอใจจึงควบคุมการดำเนินชีวิตของคนเราไปแล้ว  ไม่สามารถจะแก้ให้ตัวเองกลับมาหาความจริงของชีวิตจริง ๆ ได้ง่าย ๆ 

           ความพอใจ  ไม่พอใจเป็นเหตุปัจจัย ให้คนเราไปเกิดในนรก  เดรัจฉาน  ไม่มีโอกาสเกิดมาเป็นคนได้ง่าย ๆ  ฉะนั้นการเกิดมาเป็นคนแต่ละชาติจึงถือว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง  เกิดมาแล้ว  ก็ไม่รู้จะนำพาชีวิตไปทางไหน  เพราะความมืดบอดของอวิชชาห่อหุ้มไว้  ทำให้คนเรามองหาหนทางสายใหม่ของชีวิตไม่พบ  ในที่สุดก็กลับมาเดินทางสายเก่า  สายเวียนว่ายตายเกิดอีก  น่าเสียดาย  เกิดมาเป็นคนแล้วไม่มีปัญญาพอที่จะนำพาตัวเองหนีทุกข์ไปหาสุขถาวรได้  ถ้าคนเรามองเห็นตัวเองอย่างนี้  จะรู้สึกเสียใจมาก  ที่ไม่สามารถพาตนเองไปตามทางสายใหม่คือ  สายที่ส่งเรามาเกิด  เพื่อพัฒนาตัวเองไปถึงจุดสูงสุดของชีวิต  คือการดับการเวียนว่ายตายเกิดได้ 

           บางครั้งเราพอจะคิดได้บ้างว่า  เราเกิดมาเพื่อหนีทุกข์ไปหาสุข  แต่ก็คิดได้เดี๋ยวเดียว  ก็ไม่สามารถคิดต่อได้ว่าจะทำอย่างไร  ความพอใจ  ไม่พอใจก็เข้ามาครอบงำอีก  ไม่สามารถจะคิดต่อได้  คนเราก็ไม่รู้ตัวได้ว่า  ความเคยชินหรือพฤติกรรม  ที่คนเราเอาความพอใจ  ไม่พอใจไปทำซ้ำมาตลอดชีวิต  พฤติกรรมของการสร้างทุกข์  จึงมีกำลังกล้าแข็ง  ครอบงำชีวิตของคนเรา  แม้เราจะมีใจที่จะคิด  แต่ก็คิดไม่ได้  เพราะพฤติกรรมเก่าของเราปิดประตูไว้ 

           น่าเสียดายเสียใจ  เราเป็นคนมีร่างกายจิตใจ  หรือมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา  แต่เราไม่สามารถควบคุมวิถีชีวิต  ให้เป็นไปตามเจตนาที่เราเกิดมาเป็นคนได้  ดูดี ๆ จะเห็นว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น  ความจริงเรามีจิตใจ  น่าจะคิดอะไรได้บ้าง  แต่คิดไม่ได้  ดูผิวเผินเหมือนกับว่าเราคิดอะไรได้หลายอย่างในแต่ละวัน  แต่ความคิดหลายอย่างที่คิดออกมานั้น  จริง ๆ แล้วเป็นความคิดอยู่ในกรอบของความพอใจ  ไม่พอใจทั้งหมด  ความคิดใหม่นอกจากกรอบนี้ไม่มี 

          ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ  พิสูจน์ได้ด้วยตัวของเราเองขณะนี้  ตอนนี้เรามีอายุเท่าไหร่แล้ว  จะคิดใหม่ได้ไหม  แต่ถ้าอายุมากแล้วนั้น  คิดจะแก้ไขตัวเองให้กลับตั้งต้นชีวิตใหม่ในทางที่ถูกต้อง  เกือบจะไม่มีโอกาสได้เลย  เพราะเราไม่สามารถจะชนะพฤติกรรมเก่า  คือความพอใจ  ไม่พอใจของเราได้ง่าย ๆ  ต้องใช้เวลา  แต่เวลาที่เหลืออยู่ของเรามีไม่พอ  ที่จะมากลับมาแก้ไขตนเองได้  ถ้าผู้ใดไม่เชื่อ  ก็ลองตรวจสอบดูตัวเองได้  แล้วท่านจะตกใจ  เพราะเราทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้นของชีวิต  ความผิดพลาดที่เราทำซ้ำกันมาตลอดชีวิตมีกำลังมาก  ถ้าเราจะเอาชนะมันได้  ต้องมีปัญญาธรรมของพระพุทธเจ้า  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  ประกอบกับความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดต่อเนื่องเท่านั้น  จึงจะชนะได้

           ต่อไปความพอใจ  ไม่พอใจ มันพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกคิด  เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าความพอใจ  ไม่พอใจอีกนับเท่าไม่ได้  เพราะคนเราเอาความพอใจ  ไม่พอใจไปทำซ้ำกับวิถีชีวิตของคนเรา  ทั้งมโนกรรม  วจีกรรม  และกายกรรมตลอดเวลา  มันทำให้เกิดความเคยชินของการดำเนินชีวิต  ต่อไปความพอใจ  ไม่พอใจ  ก็จะเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของคนเรา  ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ประกอบด้วยความพอใจ  ไม่พอใจ  ในที่สุดคนเราก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง  ตามความรู้สึกนึกคิดของเรา  คนเราก็ไม่มีโอกาสรู้และเข้าใจว่า  ความรู้สึกนึกคิดของเรานั้น  คือความพอใจ  ไม่พอใจนั่นเอง  ทุกวันนี้เราก็ดำเนินชีวิตตามความรู้สึกนึกคิดของเราตลอดเวลา

           เมื่อเอาความรู้สึกนึกคิด  ไปทำซ้ำในชีวิตประจำวันตลอดเวลา  ทำให้ความรู้สึกนึกคิดกลายไปเป็น  หรือพัฒนาไปเป็น  ความไม่รู้อะไรทั้งสิ้น  ไม่รู้ว่าอะไรผิด  อะไรถูก  อะไรเป็นบุญเป็นบาป  ความรู้สึกนึกคิดกลายเป็นความไม่รู้  เข้าไปฝังอยู่ในใจของเรา  สามารถควบคุมจิตใจของเราเด็ดขาด  คนเราในที่สุดก็คิดอะไรไม่ได้  ทำตามพฤติกรรมความเคยชินของความไม่รู้  พฤติกรรมความเคยชินเหล่านี้  ถ้าเราไม่มีปัญญาของพระพุทธเจ้า  ไม่มีโอกาสจะรู้เห็นได้  ยกตัวอย่าง  ในตัวของคนเราทุกคนในขณะนี้  คิดก่อนทำไม่ได้  ทำก่อนคิดกันทั้งนั้น  เพราะใจของคนเรา  ถูกพฤติกรรมของความไม่รู้ควบคุมอยู่ 

           พฤติกรรมเร็วกว่าความคิดของคนเรา  คนเราจะคิดอะไรขึ้นมาได้  จะต้องหาเหตุปัจจัย มาให้ครบก่อน  จึงจะคิดได้  แต่พฤติกรรมมันเป็นผลของความคิด  ที่คิดแล้วทำมาก่อน  ไม่ต้องหาเหตุปัจจัยอะไรมาก  เพราะพฤติกรรมมีเหตุปัจจัยอยู่ในตัวมันครบ  เพราะมันเป็นผลของความคิดมาก่อน  เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บเข้าไปอยู่ในใจ  มันจึงควบคุมจิตใจเราได้  คนเราจึงคิดก่อนทำไม่ได้  ได้แต่คิดตามการกระทำเท่านั้น  จะเห็นว่าอวิชชา  ไปหาโลภ  โกรธ  หลง  จากนั้นไปหาความพอใจ  ไม่พอใจ  จากนั้นก็ไปหาความรู้สึกนึกคิด  จากนั้นก็ไปหาความไม่รู้

           จากความไม่รู้  ที่คนเราเอาไปทำซ้ำในชีวิตประจำวัน  เมื่อความไม่รู้หมดแรงให้ผล  ก็เปลี่ยนความไม่รู้  ไปสู่ชื่อวัตถุ สิ่งของ  สัตว์ บุคคล  ให้คนเราเอาชื่อต่าง ๆ  ดังกล่าวไปทำซ้ำ  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  ชื่อครอบงำโลกและชีวิต  เราจะเห็นว่าโลกนี้ทั้งใบมีชื่อบอกไว้ทั้งหมด  ชีวิตของเรา  ส่วนประกอบของตัวเรา  ก็มีชื่อกำกับอยู่ทุกชิ้น  ทั้งอวัยวะภายในและภายนอก  เราจะเห็นว่าชีวิตที่เราไปเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก  มีชื่อ เป็นสื่อนำให้เราเข้าไปสัมผัส  มันกลัวเราจะลืมชื่อของสรรพสิ่ง  มันก็พัฒนาชื่อต่าง ๆ  มีตัวหนังสือกำกับ  ฉะนั้น ตัวหนังสือและชื่อ  ก็คืออวิชชา  หรือโลภะ  โทสะ  โมหะ  หรือความพอใจ  ไม่พอใจ  ความรู้สึกนึกคิด  และความไม่รู้ ก็อยู่ในชื่อที่คนเราเรียกขาน  และตัวหนังสือที่เราเขียนกำกับโลกและชีวิต  ก็หมายความว่า  ขันธมาร  กิเลสมาร  มันไม่ยอมให้คนเราหนีไปจากอวิชชาได้

           เมื่อคนเราเอาชื่อและตัวหนังสือ  ไปทำซ้ำในชีวิตประจำวัน  ในที่สุดชื่อ  ตัวหนังสือ  ก็กลายไปเป็น  ความยึดมั่นถือมั่น  ว่านั่นของเรา  นั่นเป็นเรา  นั่นเป็นตัวตนของเรา  จากนั้น  ความยึดมั่นถือมั่น  ก็กลายเป็นตัวกูของกูเกิดขึ้น  นั่นคือ อวิชชาเสถียรมั่นคงในตัวคนเรา  มาถึงตรงนี้  เราพอจะมองเห็นวิถีชีวิตของคนเราว่า  เมื่อคนเราออกจากท้องแม่มา  หมายความว่าตัวคนเรา  พาร่างกายจิตใจออกมาจากกรงขังของพญามารได้  มีอิสรภาพ  ทางกาย  จะไปไหนมาไหน  ที่ไหนก็ได้  แต่จิตใจของคนเรานั้น  ยังอยู่ในกรงขังของอวิชชา  หรือพญามารอยู่  ถือว่าเราโชคดีแล้วที่เกิดมาเป็นคน  เพราะมีโอกาสจะพาตัวเราหนีไปจากกรงขังของอวิชชา หรือพญามารได้  เป็นคนเท่านั้น  จึงจะหนีจากพญามารหรืออวิชชาได้

           ถ้าคนเราไม่เข้าใจเรื่องราวของอวิชชาที่เขียนมานี้  ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดหนีไปจากพญามารหรืออวิชชาได้  คนเราต้องกลับเข้าไปอยู่ในคุกของอวิชชา หรือพญามารอีก  ต้องเวียนว่ายตายเกิดหาที่สิ้นสุดไม่ได้

           เราจะเห็นว่า  อวิชชามันพัฒนาไปซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราทุกคน  ซ่อนอย่างละเอียดลึกซึ้ง  เกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะรู้เห็นได้ง่าย ๆ  เพราะอวิชชาอยู่กับเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน  และจะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด  จนกว่าคนเราจะพัฒนาตัวเอง  เข้าถึงเส้นทางมรรคผลนิพพาน  ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้บอกทางไว้ให้  สิ่งที่อวิชชาเข้าไปซ่อนตัวอยู่แต่ละอัน  มันละเอียดลึกซึ้งจริง ๆ  รู้เห็นไม่ได้เลย  คนเราก็ไปหลงสิ่งที่อวิชชาซ่อนตัวอยู่  จนไปติดกับสิ่งเหล่านั้น  เป็นความพอใจ  และไม่พอใจที่ควบคุมชีวิตจิตใจของเรา 

           ในขณะนี้  มีใครมองเห็นบ้าง  ถ้ามองเห็นกัน  ก็คงจะไม่มีใครไปแสวงหาความพอใจ  ไม่พอใจ  แต่นี่  แต่ละคนตื่นมาแต่ละวัน  ก็วิ่งไปแสวงหาตลอดเวลา  ก็หมายความว่า  ความพอใจ  ไม่พอใจคืออวิชชา  ที่ทำให้คนเราเวียนว่ายตายเกิด  ไม่มีผู้ใดรู้จักกับมันเลย  ทำให้คนเราเข้าใจว่า  ถ้าขาดความพอใจ  ไม่พอใจแล้ว  ชีวิตจะแห้งแล้ง  ไม่มีความสุข  ความจริงมันเป็นเพียงความสุขชั่วคราวเท่านั้น  ไม่ใช่ความสุขจริง ๆ

           เมื่อความพอใจ  ไม่พอใจ  พัฒนาตัวเองไปสู่ความรู้สึกนึกคิด  ไปฝังอยู่ในจิตใจของเรา  ใจของเราควบคุมร่างกายหรือการดำเนินชีวิต  ทำให้คนเราคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้  นอกจากความพอใจ  ไม่พอใจ  ที่ฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของคนเรา  ก็นับว่าละเอียดลึกซึ้งกว่าความพอใจ  ไม่พอใจ  คนเรารู้ไม่ได้  มองไม่เห็น  เลยเป็นคนขาดสติ  ที่จะคิดเรื่องอื่น หรือเรื่องใหม่ ๆ ได้  คนเราทุกคนที่มีชีวิตอยู่  จะต้องมีความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา  ในเมื่อเป็นอย่างนี้  ก็หมายความว่า  คนเราเอาอวิชชาไปทำซ้ำอยู่ทุกวัน

           ต่อไป  ความรู้สึกนึกคิด  ก็ได้พัฒนาตัวเองต่อไป  เพื่อมิให้คนเราหยุดคิดถึงอวิชชา  นั่นคือพัฒนาไปเป็นชื่อของวัตถุ  สิ่งของ  สัตว์  บุคคล  ให้คนเราเอาไปทำซ้ำ  คิดดูให้ดี ๆ  จะเห็นว่า  คนเราจะตั้งชื่ออะไร  ต้องคิดจนตัวเองพอใจ  จึงตั้งชื่อสิ่งนั้น ๆ  ฉะนั้น ชื่อแต่ละอย่างที่ตั้งขึ้นนั้น  คือตัวแทนของความรู้สึกนึกคิด  หรือความพอใจ  ไม่พอใจ  มีผู้ใดรู้บ้างว่า ชื่อที่เราใช้เรียก  หรือใช้สื่อสารซึ่งกันและกันนั้น  คืออวิชชา

           จากนั้นชื่อก็พัฒนาต่อไปอีก  เป็นตัวหนังสือที่เราใช้เขียนสื่อสารกัน  ขณะนี้มันละเอียดลงไปอีก  ทำให้คนเรารู้ไม่ได้  เห็นไม่ได้  คนเราก็ไปหลงใช้ตัวหนังสือแทนตัวเอง  ในชีวิตประจำวัน  แต่ละวันเราหลีกเลี่ยงใช้ชื่อและตัวหนังสือไม่ได้เลย  มันเลยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนเรา  คนเราก็จะเอาชื่อและตัวหนังสือไปทำซ้ำในชีวิตประจำวัน  เราจะเห็นว่า  คนเราจะรู้จักชื่อหรือตัวหนังสือเท่านั้น  (ความจริงมันเป็นสมมุติที่คนเราตั้งขึ้นเท่านั้น  มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง)  ไม่รู้จักความจริงเบื้องหลังของชื่อนั้น  ทำให้คนเราไปหลงชื่อและตัวหนังสือ   ไปยึดมั่นถือมั่นในตัวหนังสือและชื่อเท่านั้น  เข้าไปไม่ถึงความจริงที่แท้จริงของชื่อและตัวหนังสือนั้น 

           เมื่อเราไม่รู้ความจริง  ชื่อและตัวหนังสือ  ก็พัฒนาไปเป็นความหลง   ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  เหมือนเราไปหลงยึดมั่นถือมั่นน้ำแข็งก้อนหนึ่ง  ว่ามันจะไม่ละลาย  ในที่สุดเราก็ผิดหวัง  เพราะมันละลายไม่เหลืออะไรอยู่  ฉันใดฉันนั้น  การที่เราไปยึดมั่นถือมั่น  ก็เพราะเราเอาชื่อและตัวหนังสือ  ไปทำซ้ำในชีวิตประจำวันของเราทุกวัน  ในที่สุดก็กลายเป็นความเคยชินและพฤติกรรมต่อไป

           จากนั้นความยึดมั่นถือมั่น  ก็กลายเป็นตัวกูของกู  อย่างตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นดังนี้  เราออกจากบ้านต้องใส่รองเท้าทุกวัน  นาน ๆ วันเข้า  ความยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดขึ้น  เราจะเห็นว่ารองเท้าเป็นรองเท้าของกูไปทันที  เมื่อตัวกู  ของกูเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา  ก็หมายความว่าชีวิตของเราล้มเหลว  แล้วหนีไปจากอวิชชาไม่ได้  ต้องกลับไปเวียนว่ายตายเกิดต่อไป  หาที่สิ้นสุดไม่ได้

           เราจะเห็นว่า  อวิชชามันพัฒนาตัวมันละเอียดลึกซึ้ง  แยบยลไปตามพฤติกรรมของคนเรา  ทำให้คนเรามองเห็นไม่ได้เลย  ตรวจสอบดูได้  ว่าอวิชชามันพัฒนาไปจนถึงตัวกูของกู  มีขั้นตอนตรงไหนบ้างที่คนเรารู้ได้ว่ามันคืออวิชชาบ้าง   ไม่รู้เลย  ถ้ารู้ได้  คนเราคงไม่ทำตามอวิชชาแน่นอน  อวิชชามันแปลงร่างมาเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  เพราะความไม่รู้  จึงไปหลงยึดมั่นถือมั่น  ไม่ให้มันหนีไปจากตัวเรา  และมันก็ยังผลักดัน  ให้คนเราไปแสวงหาความพอใจ  ไม่พอใจ  หรืออวิชชาให้กับตัวเองตลอดเวลา  ชีวิตของคนเรา  จึงไม่มีเวลาพักผ่อนให้กับตนเอง  มีแต่ไปไล่วิ่งตามหาความพอใจ  ไม่พอใจ  ถ้ารู้ว่ามันคืออวิชชาหรือทุกข์ถาวร  คงไม่มีผู้ใดไปแสวงหาแน่นอน  อวิชชา  หรือขันธมาร  กิเลสมาร  อภิสังขารมาร  มันเก่ง  สามารถแปลงร่าง  หลอกล่อให้คนเราหลงตามมันไปทุกหนทุกแห่ง  หลงจนไม่รู้จักตัวเอง เป็นใคร  เกิดมาทำไม

           ขอทบทวนดูชีวิตของคนเราแต่ละวันว่า  เราต้องคิด  ต้องทำ  ต้องนั่ง  ต้องเดิน  ต้องนอน  ไปไหนมาไหน  อาบน้ำ  ล้างหน้า  เข้าห้องน้ำ  กินข้าว  ต้องทำงานบ้าน  งานนอกบ้าน  ไปทำมาหากิน  ต้องพูด  ต้องคุย ฯลฯ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้  อวิชชาหรือความพอใจ  ไม่พอใจ กำกับดูแลทั้งหมด  น่ากลัว  น่าใจหาย  คนเราไม่มีโอกาสควบคุมตนเองได้เลย  ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้  นี่คือเหตุผลที่คนเราเกิดมาเป็นคน  ความจริงแล้วเกิดมา  เพื่อมาแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้กับตัวเราเอง  แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เลย  น่าเสียดายชีวิต และน่าเสียใจ  เพราะเราไม่มีโอกาสแก้ไขตนเองได้  เสียเวลาที่เราเกิดมาเป็นคน

           เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว  ก็เป็นโอกาสจะแก้ไขตนเองได้ในวันนี้เท่านั้น  เพราะวันพรุ่งนี้  เราจะมีโอกาสตื่นมากินข้าวเช้าหรือไม่  เราก็ไม่รู้  เพราะชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน  เพราะมันไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  มันเกิดจากเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว  แล้วก็แตกสลาย  มันจะแตกสลายเมื่อใด  มันไม่ได้บอกให้เรารู้  พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า  ควรมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท  ดังปัจฉิมโอวาทที่ตรัสไว้ว่า  สิ่งใดมีเกิดขึ้น  ย่อมเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา  ขอให้เธอทั้งหลาย  จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น  ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด  คนเราประมาทที่ไหน  ประมาทที่ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ประมาทเพราะตามสิ่งที่มากระทบสัมผัสตา หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจไม่ทัน  จึงไปหลงพอใจ  ไม่พอใจ  สิ่งที่ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง  ถ้าตามทันสิ่งที่มากระทบตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง  ก็ดับทุกข์  หรืออวิชชาได้ทันที

           แต่อวิชชามันเปลี่ยนแปลงตัวมันไปหลายรูปแบบ  เช่น  เปลี่ยนเป็นความพอใจ  ไม่พอใจ  เปลี่ยนเป็นความรู้สึกนึกคิด  เปลี่ยนเป็นชื่อ  ตัวหนังสือ  ถ้าเราไม่เข้าใจอวิชชาที่มันเปลี่ยนรูปแบบของมัน  ไปอยู่ในสิ่งที่กล่าวมานี้  มันหลอกล่อให้เราหลงไปเอารูปแบบดังกล่าวไปทำซ้ำ  โดยไม่รู้ว่ามันเป็นอวิชชา  คนเราจึงเอาร่างทรงของอวิชชาไปใช้ดำเนินชีวิตของตนเอง  จนเป็นวิถีชีวิตของอวิชชา  น่าเสียใจ  และน่าเสียดายเวลาของชีวิต  ที่เกิดมาเป็นคนในชาตินี้  เกิดมาไม่ได้อะไรเลยที่เป็นสิริมงคลของชีวิต  ได้แต่ทุกข์เท่านั้นติดใจไปเกิดอีก  ก็ทุกข์อีก  หาที่สิ้นสุดไม่ได้

           คนที่มีโอกาสเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ศาสดาเอกของโลกตรัสรู้เองโดยชอบ  จึงเป็นคนมีบุญวาสนาหาที่สุดไม่ได้  เพราะได้เอาพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน  ไปปฏิบัติให้ตัวเองหนีไปจากอวิชชา หรือดับอวิชชาได้  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าบอกทางให้  คนเราไม่มีโอกาสหนีรอดไปจากอวิชชาได้  ชาตินี้เรามีโอกาสศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้  ถือว่าโชคดีหาที่สุดไม่ได้

           เมื่อเราโชคดีแล้ว  เราต้องฝึกฝนตนเองให้ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้ายของการเวียนว่ายตายเกิด  เราจะไม่เกิดอีก  ให้ตั้งสัจจะไว้อย่างนี้  เพื่อเอาชนะพฤติกรรมความไม่รู้ของเรา  ถ้าเอาชนะมันไม่ได้  ความไม่รู้ก็จะมอมเมาให้ตัวเราหลงตัวเราว่ามีตัวตน  และทรัพย์สมบัติของเรามีตัวตน  คนเราก็จะไปยึดมั่นถือมั่น  เปรียบเสมือนตัวเราก็เป็นน้ำแข็งก้อนหนึ่ง  ไปหลงกอดทรัพย์สมบัติหรือน้ำแข็งก้อนหนึ่งเช่นกัน  ในที่สุดก็จะไม่ได้อะไร  มันละลายหายไปหมด  ทั้งตัวเราและทรัพย์สมบัติ  ไม่มีอะไรเหลือ  นี่คือผลของอวิชชา  ที่คนเราไปหลงยึดมั่นถือมั่น

อ่านต่อ (อวิชชา 2)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

อวิชชา(2)

29 ก.ย. 2566

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้