ฐานของความเพียร คือปัญญา

Last updated: 13 ต.ค. 2562  |  828 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฐานของความเพียร คือปัญญา

       พระพุทธเจ้าท่านตรัสสรุปไว้ว่า  ไม่มีอะไรเอาชนะความเพียรพยายามของมนุษย์ได้  คำนี้คำเดียว  ถ้าเราเจาะเข้าไปแล้วก็หนาวเลยนะ  หมายความว่า  ถ้าเอาความเพียรพยายามมาตั้งเป็นหลักปฏิบัติไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม  ถ้าเราขยันหมั่นเพียร  เราจะทำได้ทุกสิ่งไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม  เราต้องรู้เหตุที่เราจะทำทั้งทางบวกและทางลบ  มันถึงจะคุ้มค่า

       ถ้าทางโลกเราขยันหมั่นเพียรไป  แล้วมันมีคุณค่าหรือมีประโยชน์พอไหม  เพราะความขยันหมั่นเพียรของเราต้องเอาชีวิตเราไปแลก  เอาวันเวลาไปแลก  ส่วนทางธรรม  เราก็เอาวันเวลาหรือชีวิตไปแลกเอา  แต่ถ้าให้เลือกว่า  เราจะเอาชีวิตเราไปแลกอะไร  ระหว่างทางโลกกับทางธรรม  เราต้องเลือกเอาทางธรรมก่อน  เพราะเลือกทางธรรม  มันจะได้ทั้ง 2 อย่าง  ถ้าเราได้ทางธรรม  เราจะได้ทั้งสุขถาวรและสุขชั่วคราว  เคียงคู่กัน

       แต่ถ้าเราเอาชีวิตและวันเวลาแต่ละวันไปแลกเอาทางโลก  เราจะได้แค่สุขชั่วคราว  แต่ทางธรรมนี่คือ  สุขถาวรและชั่วคราวเคียงคู่กัน  เห็นไหมล่ะ  ถึงแม้ว่าเราจะใช้ความเพียรพยายาม  เราก็ต้องมีปัญญาประกอบด้วย  ไม่ใช่มีความเพียรโดยไม่มีปัญญาประกอบ  เพราะมองไม่เห็นผลที่จะตามมา  เพราะปัญญานั้น  ถ้ามีประกอบไว้ในตัว  มันจะเห็นความจริง  แล้วมันจะเห็นคุณค่าของทุกสิ่งที่เราทำ  ท่านลองตามดูและพิจารณาดูนะว่า  ความเพียรนี้  เราจะสร้างขึ้นอย่างไร  แล้วถ้าเราไม่ตั้งความเพียรไว้บนฐานของไม่เที่ยงเกิดดับ  คือ  ความเพียรที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา  มันไม่มีค่า  เราจะไม่ได้สิ่งที่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

       แต่ถ้าเรามีปัญญาธรรมประกอบ คือ  ความเพียรพยายามของเรามีฐานของความจริง  ไม่เที่ยงเกิดดับ  คือ กฎธรรมชาติ 2 กฎ  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ  กฎไตรลักษณ์ และกฎอิทัปปัจจยตาฯ  ถ้าเราทำอย่างนี้  วันเวลาที่เราเสียไปในการกระทำความเพียรมันจะคุ้มค่า  เพราะมันได้ดับทุกข์สร้างสุขให้กับตัวเรา  คุ้มค่ากว่า  ที่จะไปหลบทุกข์ชั่วคราว แล้วเราได้ทุกข์ถาวรตามมา  มันไม่คุ้มค่า

       ถ้าเอาความพอใจไม่พอใจไปเป็นฐานในความเพียรพยายาม  ความเพียรพยายามของเราจะมีค่าแค่ทางเดียวคือ  สุขชั่วคราว  ถ้าสุขชั่วคราวนั้น  อาจจะชั่วคราวจริง ๆ  แล้วได้ไปทุกข์ถาวรต่อในคุกก็ได้  เพราะเส้นทางมันไปทางนั้น  เพราะมันตั้งบนอยู่บนความโลภ  โกรธ  หลง  จุดจบของมันจะไปที่นั่น  อย่างเราเพียรพยายามจะไปฆ่าคน  ถ้าฆ่าได้สำเร็จแล้วก็พบสุขชั่วคราว  สะใจว่ากูได้ฆ่ามึงจนสำเร็จ  อีกวันสองวันก็ถูกจับไปติดคุกติดตารางหลายปี หรือตลอดชีวิต  ได้รับทุกข์จากผลกรรมนั้นอย่างนี้เป็นต้น

       ความเพียรมันก็ต้องมีฐาน  ถ้าเรารู้ว่าความเพียรมีฐานเป็นไม่เที่ยงเกิดดับ  มันมีคุณค่าแก่ชีวิตเรา  เราต้องสร้างมันให้มี  อย่างการที่เรามาฟังธรรม  ศึกษาธรรมเป็นประจำนี้ก็หมายความว่า  เราจะสร้างฐานความเพียรของเราโดยอ ัตโนมัติ  เพราะถ้าเราจะแจ่มแจ้งในพระธรรมคำสอนมากขึ้น ๆ  แล้วเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่  จากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  ที่เราได้ศึกษาและปฏิบัติ  เมื่อเราแทงตลอดเป็นลำดับ ๆ  ความเพียรพยายามก็จะเกิดขึ้น  ความเพียรพยายามที่จะท่องไม่เที่ยงเกิดดับ  ก็จะตามมาจนเป็นปกตินิสัย

       ถ้าเรามีความเพียรพยายามที่มีปัญญาประกอบ  ความเพียรพยายามนั้นจะให้เราท่องไม่เที่ยงเกิดดับ เป็นปกตินิสัยประจำวัน  มันจะได้ทั้งข้อมูลไม่เที่ยงเกิดดับ  และมันจะได้ทั้งพฤติกรรมไม่เที่ยงเกิดดับ ได้ 2 อย่างเคียงคู่  คือ พฤติกรรมไม่เที่ยงเกิดดับก็จะเป็นพฤติกรรมที่เข้มข้น  ถ้าพฤติกรรมที่ท่องไม่เที่ยงเกิดดับ ด้วยความอยากได้อยากเป็น  มันยังตั้งอยู่บนฐานความพอใจไม่พอใจ  ความเข้มข้นมันมีไม่มาก  มันเบาบาง  คือ  มันไม่ตอกย้ำในใจ 9 ชวนะ คือ  มันก็จำหลวม ๆ  มันก็เลยไม่ติดในใจเรา  นั่นคือ ปัญญาความเพียรเลยไม่มีในใจเรา

       เพราะระหว่างที่เราเอาความพอใจ ไม่พอใจ ไปท่องไม่เที่ยงเกิดดับก็ตอกย้ำเบา ๆ  ส่วนอีกด้านมันไปตอกย้ำความพอใจ ไม่พอใจให้แน่นหนา  เพราะฉะนั้นไม่เที่ยงเกิดดับ ก็เลยไม่มีกำลังที่จะทะลุทะลวงความพอใจ ไม่พอใจ ออกมาได้  แต่ถ้าเราท่องไม่เที่ยงเกิดดับบนฐานของความเพียร  ที่มีไม่เที่ยงเกิดดับเป็นฐานประกอบ หรือ  มีปัญญารู้จริงเป็นฐานประกอบ  เราจะได้ข้อมูลที่เข้มแข็ง  แล้วเราก็ได้พฤติกรรมที่เข้มแข็ง  เพราะมันต้องมีสองด้าน  พฤติกรรมเข้มแข็งอย่างไร  เมื่อเราท่องไม่เที่ยงเกิดดับ บนความจริงบนความเพียรที่มีปัญญาประกอบ  ความพอใจ ไม่พอใจ มันจะไม่สามารถแทรกเข้ามาได้

       ความเพียรจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ คือ  1. มีปัญญา  2. รู้เป้าหมาย  3. มีศรัทธา   เมื่อเรามีปัญญา  รู้ว่าการท่องไม่เที่ยงเกิดดับ  เป็นเหตุให้รู้ความจริงในธรรมชาติทั้งปวง  เป็นข้อมูลที่สร้างสุขดับทุกข์ได้  แล้วเรารู้เป้าหมายของชีวิตว่า คือ  สุขถาวร  คือ นิพพาน  เราจึงจะมีศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เราจะต้องเอาจริงเอาจังฝึกฝนให้ได้  ความเพียรพยายามจึงเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของเรา คือ  การมาเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง  เพื่อเอาความจริงไม่เที่ยงเกิดดับใส่ไว้ในใจให้ได้  เพื่อให้พระธรรมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย  สั่งให้เรามีความเพียรท่องไม่เที่ยงเกิดดับ  เพื่อบรรลุเป้าหมายถึงมรรคผลนิพพานในชาตินี้ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้