Last updated: 13 ต.ค. 2562 | 622 จำนวนผู้เข้าชม |
สิ่งที่ทุกคนต้องการนั้นคือ การแก้ปัญหา หรือดับทุกข์ให้กับตัวเองได้ อันนี้ถือเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่ ความเป็นสิริมงคลทั้งหลายทั้งปวงสู้เรื่องนี้ไม่ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า เราจะทำบุญทำกุศลขนาดไหน จะมีโชคมีลาภขนาดไหน ก็ยังสู้คำว่า ไม่เที่ยงเกิดดับ คำเดียวไม่ได้ เพราะคำว่าไม่เที่ยงเกิดดับ นี้ก็ถือว่า เป็นยอดปรารถนาของชีวิต ก็คือความจริง หรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้เป็นความจริงสากล ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ข้ามความเชื่อไป ความเชื่อในที่นี้คือ เชื่อว่าสิ่งทั้งปวงมีตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา คือโลภะ โทสะ โมหะ เพราะปัญหาของคนเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เกิดจากความเชื่อ
ถ้าทุกคนเข้าถึงความจริงของโลกและชีวิตได้แล้ว ก็สามารถแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ การแก้ปัญหาชีวิตแต่ละคน เราจะเห็นว่ามันไม่เหมือนกัน เพราะปัญหาแต่ละคนที่สะสมมาไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน การที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันนี้ เราจะเอาความรู้ทางโลกที่เป็นความคิดเห็นของคนไปแก้ไข ไปตรวจวัดไม่ได้ เพราะไม่สามารถจะเข้าถึงนามธรรมได้ เพราะความคิด ความเห็นนี้มันเข้าไม่ถึงความจริง เพราะว่าความเชื่อ ปัญหาหรือทุกข์ของเรา ที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นด้วยความเชื่อ คือ อวิชชา คือ โลภ โกรธ หลง
เราจะเอาความเชื่อเข้าไปแก้ไข มันแก้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องเอาความจริงเข้าไปแก้ แต่ว่าคนเราไม่เข้าใจว่าปัญหาที่ตัวเองมีอยู่ ปัญหาที่ตนเองประสบอยู่นั้น มันเป็นความเชื่อของตนเองที่ปรุงแต่งขึ้น ก็มองไม่เห็นว่าปัญหาหรือทุกข์ของตนเองขณะนี้ เป็นเรื่องของตนเองปรุงแต่งขึ้น เมื่อมองไม่เห็นก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร ก็เอาความคิดเห็นของตนเองเข้าไปแก้ไข ตามความคิดเห็นว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ น่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดเราก็ไปหาที่ปรึกษา จ้างมาช่วยแก้ปัญหา ที่ปรึกษาก็ช่วยแก้ปัญหาให้เสร็จ อีกเรื่องหนึ่งก็ไปติดปัญหาอีกข้างหน้าอีกเรื่องหนึ่ง มันก็เลยไม่เป็นการแก้ปัญหาที่เด็ดขาด ให้กับชีวิตของเราแต่ละคน เพราะปัญหาของเราก็มีอยู่แล้ว เป็นธรรมดาที่เราสร้างขึ้นทุกวัน ความคิดเห็นของเรามันก็เอาปัญหาที่เรามีอยู่นี้ไปสร้างปัญหาใหม่ เราก็ไปสร้างร้านค้าบริษัท ห้างร้าน ขึ้นมาอีก เอาความคิดเห็นของตนเองไปสร้างปัญหาให้กับตนเอง และคนอื่นเพิ่มขึ้น
ความจริงปัญหาของตนเองเราก็ยังแก้ไม่ได้ เราก็เอาปัญหาของตัวเองนี่ละ ไปสร้างเป็นปัญหาใหญ่โตให้คนอื่นช่วยแก้ไขให้ ช่วยสร้างปัญหาเพิ่มให้อีก ตัวเองแก้อย่างนี้แล้ว ยังไม่พอใจเพราะอยากได้มากกว่านี้ ก็ไปตั้งร้าน บริษัท ห้างร้านขึ้นมาอีก ไปจ้างคนเข้ามาทำงานเพื่อให้เขาช่วยแก้ปัญหา เราได้ตามที่เราปรารถนา คือ ความร่ำรวย
แต่ความร่ำรวยที่ได้มา หรือที่เกิดขึ้นกับเรานั้น มันก็เป็นปัญหาของคนอีกหลายคนเกิดขึ้น แล้วปัญหาของคน ที่หลายคนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะลูกน้องเรา สมมุติเรามีบริษัท เราต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาให้กับลูกน้องเราอีก เรายังแก้ของตัวเราไม่สำเร็จ เรามาสร้างเครือข่ายของปัญหาให้กว้างขวางลงไปอีก อันนี้คือ ความคิดเห็น ผลที่สุด ก็ปัญหาที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อความร่ำรวยนั้นละ เพราะความร่ำรวยที่เราต้องการนั้น มันก็เป็นปัญหาให้กับเราเพิ่มขึ้นอีก ในบางครั้ง เราอาจจะร่ำรวยจากความคิดเห็นของเรา แต่สักพักความร่ำรวยจากความคิดเห็นของเรามันก็ย้อนกลับมาเป็นปัญหาเราอีก
ความร่ำรวยนั้นที่มันเป็นแหอวนหรือตาข่ายของพญามาร ผลที่สุดว่ามันอะไรกันแน่ ในชีวิตเราจะเห็นว่า เจ้าของบริษัทใหญ่โตในโลกปัจจุบันนี้ ที่เขาว่าเขาประสบความสำเร็จ จริง ๆ แล้วไม่มีความสำเร็จใด ๆ เกิดขึ้นกับเขาเลยนะ มีแต่ความวุ่นวาย คือ ตอนแรกเมื่อตั้งบริษัทห้างร้าน ก็คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ตัวเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็คิดว่าตัวเองนี้ยิ่งใหญ่แล้ว ไป ๆ มา ๆ ความรับผิดชอบทั้งหมด กลับมาอยู่ตัวเองที่เป็นเจ้าของ อย่างเช่น เราตั้งโรงงานอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เราก็จ้างพนักงาน คนงานมาช่วยเราทำงาน เราก็ดีใจว่า เรามีบุญละ มีคนอื่นมาช่วยเราหาเงินอันนี้เป็นความคิดเห็น เป็นการวางแผนของเรา ที่แยบยลจนมีคนอื่นมาหาเงินให้อย่างนี้เป็นต้น เพราะในที่สุดไป ๆ มา ๆ เนี่ย ใครหาเงินให้ใครก็ไม่เข้าใจ ตั้งโรงงานขึ้นมาแล้วพนักงานก็มาช่วยเราทำงาน เราก็ให้เงินเดือนเขา ผลที่สุดเงินเดือนที่เราให้พนักงาน เราต้องรับผิดชอบจ่าย ไม่ใช่เขามาทำงานให้เราฟรี ๆ เราต้องจ้างเขา เมื่อเราต้องจ้างเขา เจ้าของโรงงานต้องมาวิ่งเต้นหาออเดอร์ ใช่ไหมละ วิ่งเต้นไปหาออเดอร์ มันใครหาเงินให้ใครกันแน่
ถ้าเราเจ้าของโรงงานไม่มาวิ่งเต้นไปหาเงิน หาออเดอร์มา ก็ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้อง ใครทำงานให้ใครก็ยังมองไม่เห็น ต่างคนต่างทำให้กันและกัน มันก็เลยเป็นปัญหายิ่งใหญ่ นั้นคือ วิธีแก้ปัญหาในทางโลก คนแก้ปัญหามันไม่หมดไปจากตัว ในที่สุดก็กลับมาเกี่ยวคอตัวเองเข้าไปอีก อันนี้คือ เอาความรู้ทางโลก ไปแก้ปัญหาทางโลก เพราะการแก้ปัญหาทางโลก เราวัดคนที่ความสำเร็จ คือ ความร่ำรวย เราวัดกันตรงนั้น ถ้าใครไม่ร่ำรวย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ความร่ำรวยนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ผลของความร่ำรวยเกิดขึ้นแล้ว มันมีอะไรตามมาบ้าง อันนี้ก็แม้ว่าทางโลกมักจะคิดเหตุเดียวผลเดียวเท่านั้น มันไม่ได้คิดตลอดสายของธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้เราเห็นว่า สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ มีบริษัทก็ทุกข์จากบริษัท ถ้าไม่มีบริษัท ก็ไม่ทุกข์กับบริษัท ใช่ไหม?
สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ ทางธรรมมันเป็นความจริง ความจริงนี้มันแก้ปัญหาได้ทุกชนิด เพราะมันมีจุดจบอยู่ในตัวมัน คือ ใหม่เก่าแตกสลาย หนุ่มแก่ตาย อยู่ในตัวมัน จะพลิกแพลงอย่างไรมันก็อยู่ในหลักนี่ ถ้าเราเอาความจริงไม่เที่ยงเกิดดับไปแก้ปัญหา จะแก้อย่างไรมันก็อยู่ในหลักนี้ มันก็ไม่มีปัญหาใหม่ตามมา เพราะมันจบก็คือจบ มันไม่มีเงื่อนงำอะไรไปเกี่ยวอะไรไว้อีก
อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยปัญญาทางธรรมนั้น มันสมบูรณ์ มันไม่เหมือนทางโลก แต่บางเรื่องก็ต้องว่าไปตามทางโลกสังคมมนุษย์ แต่ที่่ถูกต้องพระพุทธเจ้าต้องการให้เราเรียนทั้งทางโลกและทางธรรมเคียงคู่กันไป เพราะมีความรู้ทางโลก ต้องมีความรู้ทางธรรม เพราะมันถึงจะทำให้โลกนี้เกิดสันติสุข คือ สังคมที่มันแตกต่างกันนี้ ใช้ธรรมเป็นตัวประสาน เหมือนแจกันนี้ละ ถ้ามีดอกไม้หลาย ๆ สี ปักอยู่ในแจกันก็สวยดี แล้วอะไรเป็นตัวประสานดอกไม้หลาย ๆ สีให้อยู่ร่วมกันได้ ก็คือแจกัน
คนเราเหมือนกัน ก็เหมือนดอกไม้หลากสีนั้นละ อะไรจะมารวมดอกไม้หลากสีอยู่ด้วยกัน คือ ธรรม ถ้าเราเอาธรรมะมาตั้งให้คนมาอยู่ร่วมกัน มันจะสวยงามเหมือนแจกันดอกไม้นั้นละ คือเราจะเห็นความจริงว่าดอกไม้ชิ้นนี้ มันเป็นของมันอย่างนี้นะ สีนี้มันเป็นของมันอย่างนี้นะ มันมีบาน มีตูมอย่างนั้น เพราะมันมีความจริงปรากฎอยู่อย่างนี้นะ เราก็ยอมรับว่าแจกันกับดอกไม้ ที่มันสวยเพราะมันมีหลากหลายสี และหลากหลายพันธุ์ คนเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาธรรมประสานคน คนก็เหมือนดอกไม้ มีหลากหลายสียิ่งกว่าดอกไม้ซะอีก แต่ละคนก็มีพิษสงน่าดูก็แล้วกัน ไม่ใช่ธรรมดา
เพราะฉะนั้น เราต้องมีแจกันที่แข็งแรง ที่จะรวบรวมดอกไม้หลายสีอยู่ด้วยกัน เหมือนสังคมเรานี่แหละ ทุกคนก็มีความรู้แตกต่างกันไม่ใช่ธรรมดา แต่ความรู้ที่แตกต่างกัน ประสบการณ์แตกต่างกันอย่างนี้ เราก็อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้าประสานให้คนที่มีความรู้แตกต่างกันอยู่ร่วมกัน เราจะใช้ความรู้ที่แตกต่างกันนั้น ไปเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยธรรม คือถ้าเรามีธรรมประสานกันแล้ว การถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ของกันและกัน มันจะเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน แม้ว่าเราไม่มีความรู้ด้านนี้ แต่คนอื่นเขามีความรู้ด้านนี้ เราก็ยอมรับเขาให้เขาเป็นผู้นำ อย่างนี้เป็นต้น
แต่ถ้าเราไม่มีธรรม เราจะมองไม่เห็นความแตกต่างของคนอย่างนี้ ถ้ามีธรรมแล้ว ทุกคนเอาธรรมประสานตัวเองกับคนอื่น คนอื่นก็จะอยู่กับเราได้ เราก็จะอยู่กับคนอื่นได้ ธรรมะนี่ คือการให้เพื่อให้ คือความจริง ความจริงไม่มีเอาเพื่อเอานะ เพราะฉะนั้นความจริง คือ ธรรมะ คือธรรมชาติ ที่มันแสดงออกมาเป็นรูปธรรมก็คือ การให้เพื่อให้ คือไม่มีเอา ถ้าคนไหนเข้าถึงธรรมก็เข้าถึงการให้เพื่อให้ได้ คนไหนมีให้เพื่อให้ คนนั้นก็มีธรรม เพราะธรรมก็จะประสานกัน การให้เพื่อให้ก็จะประสานกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน เพราะเราต้องการพัฒนาตัวเราไปถึงเป้าหมายชีวิต เป้าหมายชีวิตเรานั้นมันไม่ใช่ง่ายๆ มันมีขวากหนามเยอะแยะ ที่คอยขวางกั้นเราอยู่ บางทีความสามารถของเราไม่พอ เราต้องมีความอดทน อดกลั้น และให้เพื่อให้ เพื่อขอความสามารถของพรรคพวกเราบางคนช่วยเรา เพื่อจะนำพาตัวเราไปถึงเป้าหมายได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรามองไม่เห็นจุดแตกต่าง จุดด้อย จุดเด่นของตัวเองแล้ว ถ้าเราไม่มีธรรม เราก็มองไม่เห็น ถ้ามีธรรม ก็มองเห็น เพราะคนที่มีธรรมจะต้องการก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง
เมื่อคนมีธรรมต้องการก้าวไปข้างหน้า การก้าวไปข้างหน้าของตนเอง ก็จะมองเห็นว่าอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง เมื่อตัวเราเป็นอุปสรรค มีบางสิ่งบางอย่างเป็นอุปสรรค เราก็เห็นว่าคนอื่นเขามีสิ่งที่เราต้องการเหลือเฟือ เราก็ขอเขาในส่วนที่เขามีเหลือเฟือ บางทีคนที่เหลือเฟืออีกด้าน ก็ขาดอีกด้านหนึ่ง คือคนเราไม่สมบูรณ์ทั้งหมด เราก็ให้สิ่งที่เขาขาด เราก็รับสิ่งที่เราขาด อันนี้คือลักษณะให้เพื่อให้ มันจะจุนเจือเกื้อกูลกันอย่างนี้ คือเราเอาธรรมเป็นตัวประสาน
ธรรมะหรือธรรมชาติมันคืออะไร คือ ลักษณะให้เพื่อให้ คือให้เพื่อให้มันเป็นความจริง ความจริงของธรรมชาติมีลักษณะให้เพื่อให้ ยกตัวอย่าง มีกำแพง มีต้นไม้ ใบหญ้า ศาลา ร้องขออะไรจากเราบ้างไหม คำตอบคือ ไม่มี ศาลาที่เรามานั่งเรียนอยู่นี่หลายปี มันไม่เคยขออะไรเราเลยนะ มีแต่ให้ความสะดวก ร่มเย็น กันแดดกันฝนให้ อันนี้คือลักษณะธรรมชาติที่อยู่ภายนอก แต่ตัวเรามันไม่มีลักษณะอย่างนี้เต็มตัว เมื่อไม่มี ก็คือเรายังไม่มีธรรมชาติเหมือนกับศาลานี้ ความจริงศาลานี้ก็สร้างด้วยเรา ทำไมเราสร้างธรรมชาติภายนอกได้ แต่เราสร้างธรรมชาติภายในให้ตัวเองไม่ได้ มันคืออะไร คือความไม่รู้ไง คือ อวิชชา
เราสร้างศาลาขึ้น อันนี้เป็นลักษณะให้เพื่อให้ของธรรมชาติ แต่เราสร้างศาลาแล้วเราไม่รู้ว่าศาลานี่เป็นธรรมชาติ มีลักษณะให้เพื่อให้ ทั้ง ๆ ที่เราสร้างขึ้นมา แต่ตัวคนสร้างมันไม่มีลักษณะอย่างนี้ มันน่าคิดนะ เพราะฉะนั้นเราต้องมาเห็นความจริงว่า การให้เพื่อให้นี้เราสร้างให้คนอื่นได้ แต่เราสร้างให้กับตัวเราไม่ได้ เราต้องมาเปลี่ยนใหม่ ต่อไปเราก็มาสร้างให้เพื่อให้ให้กับตัวเรา เพื่อที่เราจะเป็นร่มเงาของคนทั่วไป อย่างที่เราจะสร้างสังคมอริยะ ก็คือสร้างศาลานี้ให้อยู่ในใจเราทุกคน เป็นร่มเงาคุ้มแดดคุ้มฝนของมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ใครเข้ามาศาลานี้เขาก็พ้นแดดพ้นฝนละ อย่างนี้เป็นต้น ใครเข้ามาหาพวกเราต่อไปก็ไม่มีใครมีปัญหาอะไร เราก็จะปกปักรักษาคุ้มแดดคุ้มฝนให้คนทั้งหลาย เรียกว่าสังคมตัวอย่าง หรือสังคมอริยะ เขาเข้ามาก็จะมาอยู่ในร่มเงาของสังคมพุทธานุภาพ สังคมให้เพื่อให้ เป็นสังคมอริยะ ทุกคนมีสภาวะจิตเป็นธรรมชาติที่เป็นความจริง
เพราะฉะนั้นการที่เราท่องไม่เที่ยงเกิดดับ ก็หมายความว่า เราเติมความจริงของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไปเป็นสัญญาความจำ ให้เป็นความจริงให้เกิดขึ้นในใจเราให้มากที่สุด เมื่อมีมากที่สุด มันจะมีลักษณะให้เพื่อให้เท่านั้น แต่ที่มันยังไม่มีอย่างศาลา ก็เพราะความจริงไม่เที่ยงเกิดดับนี่มันมีน้อย เรารู้ว่าข้อมูลมันมีน้อย ทำอย่างไรให้ข้อมูลมันมีมาก ก็คือเพียรท่องจำ แล้วก็สร้างเอาความจริงที่มีอยู่ในใจ มาสร้างลักษณะให้เพื่อให้ ให้แก่กล้าขึ้นเพื่อให้มันมากขึ้น ๆ ก็เพื่อมันจะได้ถ่ายทอดออกมาข้างนอกชัดเจน แต่ถ้ามันมีน้อยมันถ่ายทอดออกมาไม่เต็มที่ ถ้าเรามีมากเมื่อไร มันจะถ่ายทอดออกมาลักษณะที่ทุกคนเห็นแล้วก็อุ่นใจ เพราะมาหาพวกเราแล้วมีแต่ได้กับได้กลับไป ไม่มีเสียหายอะไร อันนี้ที่พระพุทธเจ้าต้องการสร้างสังคม เรียกว่า สังฆะ หรือสงฆ์สาวกพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก เพราะให้เป็นสังคมตัวอย่างที่จะแผ่ขยายความจริงที่ดีงามนี้ออกไป ให้คนทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม เพื่อพบกับสุขถาวร คือ นิพพาน
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562