Last updated: 13 ต.ค. 2562 | 584 จำนวนผู้เข้าชม |
มนุษย์ทุกคนเกิดมามีทางเลือกให้กับตัวเอง 2 ทางเท่านั้น คือ เลือกทางดับทุกข์ให้กับตนเอง หรือเลือกทางหลบทุกข์ให้กับตนเอง แต่ชีวิตนี้เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาต้องการหนีทุกข์ไปหาสุขกันทุกคน แต่ละคนก็มีวิธีการไปหาสุขของตนเองแตกต่างกันไปแล้วแต่สติปัญญาของแต่ละคน บางคนก็ประสบความสำเร็จ บางคนก็ผิดหวังคละเคล้ากันไปอย่างนี้ ในสังคมของมนุษย์ปุถุชนแต่ละคนก็พาตนเองไปดิ้นรนไปแสวงหาสุขกันตลอดเวลา หรือตลอดชีวิตไม่มีอันสิ้นสุด เพราะความอยากสุขของแต่ละคนนั้นมีมากถมไม่เต็ม ถ้ามองดูตัวเองให้ดีแล้วก็จะเห็นความจริงว่า สุขที่ต้องการหรือแสวงหานั้นเป็นสุขที่แสวงหามาปรนเปรอเสพเสวยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นพอได้มาก็สุข ไม่ได้ก็ทุกข์ วนเวียนอยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิต ชีวิตของแต่ละคนจึงมีเวลาไม่พอที่จะหาสุขมาสนองตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของตนเองได้ ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ชีวิตของคนเราถมไม่เต็ม พร่องอยู่เป็นนิตย์ สภาวะจิตของคนเราที่เป็นปุถุชนทุกคนจึงมีลักษณะดังนี้ เมื่อพอใจก็อยากได้แสวงหาไม่พอใจก็ผลักหนี ตกอยู่ในวังวนอย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้ การแสวงหาสุขของคนเราทุกวันนี้ แสวงหาด้วยความอยากความปรารถนาหรือความต้องการ พอได้สิ่งที่ตัวเองต้องการมาแล้วก็สุขแต่ก็เป็นสุขชั่วคราว เมื่อได้มาแล้วสักพักก็เบื่ออยากเอาทิ้งไปหรือผลักหนีไป ต้องการสิ่งใหม่มาเสพเสวยต่อไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าเป็นความสุขนิดเดียว แต่ทุกข์ที่ตามมาบางครั้งมากมายเทียบเคียงกับสุขแล้วทุกข์มากกว่า การไปหาสุขของคนเราจึงเป็นการไปหาทุกข์มากกว่า ถ้ามองให้ดี ๆ ช้า ๆ จะเห็นชัดเจน ทุกข์ของคนเราจึงทับถมตัวเองตลอดเวลา ทุกข์ที่ทับถมนี้ก็คือสุขที่เราเสพเสวยแล้วนั่นเอง เรียกว่า “ขยะตกค้าง” ทุกคนต้องการกำจัดออกไปจากตัวเรา แต่บางครั้งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ติดอยู่เฉพาะกายภายนอกเท่านั้น ยังเข้าไปติดแน่นอยู่ในจิตใจของเราอยู่ด้วย อันนี้แหล่ะที่เป็นขยะที่กำจัดออกจากตัวเองยาก หรืออาจจะกำจัดไม่ได้เลยในชีวิตนี้ บางคนแบกขยะที่ได้มาจากที่เราไปหาสุขหรือขยะสุขที่เราใช้แล้วไม่ไหว จึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม อมโรคในที่สุดอาจจะจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะทนไม่ได้จากขยะสุขที่ตัวเองหามา ฉะนั้นเกิดมาเป็นคนจะต้องระวังขยะสุขที่เราใช้แล้วให้ดี ถ้ามีการจัดการให้ดีแล้วขยะนั้นทับถมเจ้าของให้ตายได้ ขยะสุขของคนเราเกิดจากการไปแสวงหาสุขไม่ถูกทาง การแสวงหาสุขโดยการหาสิ่งที่มาปรนเปรอเสพเสวยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า “การหลบทุกข์ชั่วคราว” บุคคลทุกคนถ้าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะพาตัวเองเข้าไปสู่วังวนหลบทุกข์ชั่วคราวอย่างนี้ไปตลอดชีวิต
ชีวิตของคนเรา ทุกคนต้องการหนีทุกข์ไปหาสุขกันทุกคน วันนี้สุข พรุ่งนี้ทุกข์ อย่างนี้ไม่มีใครต้องการทุกคนต้องการสุขถาวรตลอดไป สุขถาวรตลอดไปอย่างนี้เรียกตามภาษาธรรมว่า “นิพพาน” นั่นเอง ฉะนั้นชีวิตของคนเราทุกคนที่เกิดมาต้องการนิพพานทุกคนทั่วหน้า หลายคนเกิดมาแล้วจนชีวิตดับไปก็ยังไม่ทราบเป้าหมายชีวิตของตนเองอย่างนี้เลย จึงพาชีวิตตนเองไปหลบทุกข์ชั่วคราวไปตลอดชีวิต หรือหลบทุกข์ชั่วคราวอย่างถาวร ไม่มีโอกาสได้พบทางดับทุกข์ให้กับตัวเองทั้ง ๆ ที่บำเพ็ญบารมีให้ตนเองมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นก็เพื่อดับทุกข์ให้ตนเองถาวร แต่ไม่มีปัญญาเพียงพอจึงพาตนเองไปหลบทุกข์ จะเห็นว่าบางคนเกิดมาชาตินี้หาทางดับทุกข์ให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เช่น ไปปฏิบัติธรรมตามวัดตามสำนักปฏิบัติทั่วไปแต่ขาดปัญญาจึงพาตัวเองไปหลงปฏิบัติทางผิด ไปทำสมาธิ ในที่สุดก็ไปหลงสุขชั่วคราวอยู่ที่ความสงบ หมดโอกาสดับทุกข์ให้กับตัวเอง น่าเสียดายความตั้งใจ บางคนก็ไปเที่ยวพักผ่อน หย่อนใจ ไปกินเหล้า ฟังเพลง ไปดูหนัง ดูละคร และพาตัวเองไปในสิ่งต่าง ๆ บางคนไปนั่งสมาธิ การกระทำอย่างนี้ถือว่าเป็นการหลบทุกข์ชั่วคราวให้กับตัวเอง พอกลับมาบ้านความทุกข์ก็เหมือนเดิมไม่ได้หมดไปแต่ประการใด วนเวียนอยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิต เพราะขาดการศึกษาเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่พบทางดับทุกข์
ทางดับทุกข์มีทางเดียวเรียกว่า ทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกได้ตรัสสอนไว้ การที่จะรู้และเข้าใจทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นี้ไม่ใช่ของง่าย ๆ เลย เพราะมีการเอาพระธรรมคำสอนนี้ไปปฏิบัติผิดกันหลายร้อยปีมาแล้วเพราะไม่เข้าใจคำสอนนี้แล้วเอาไปปฏิบัติทันที จึงหมดโอกาสดับทุกข์ให้กับตัวเองได้ ฉะนั้นก่อนจะทำการดับทุกข์ซึ่งเป็นทางสายเอกสายเดียวนี้ ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้จบ 45 เล่ม หลายรอบจนเข้าใจได้ว่า พระธรรมคำสอนสูตรนี้เป็นพระธรรมคำสอนในส่วนที่เป็นผลของการตรัสรู้ หรือเป็นพระธรรมคำสอนในส่วนที่เป็นเหตุของการตรัสรู้ พระธรรมสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนผู้ใด สอนอริยบุคคลหรือสอนปุถุชนคนธรรมดา พระองค์ท่านตรัสเป็นคำย่อสรุป หรือคำเต็ม ถ้าเป็นคำย่อแล้ว คำเต็มพระองค์ท่านตรัสไว้อย่างไร ต้องเข้าใจพระธรรมคำสอนถึงระดับนี้ จึงจะนำไปปฏิบัติถูกต้องได้
พระพุทธเจ้าตรัสทางสายเอกไว้ว่า ถ้าผู้ใดต้องการบรรลุมรรค ผล นิพพาน ให้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาสติปัฏฐาน 4 คำสอนของพระพุทธเจ้าสูตรนี้ พระองค์ท่านตรัสสรุปผลของการปฏิบัติให้พระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันบุคคลขึ้นไปฟัง เมื่อพระอริยบุคคลได้ฟังแล้วท่านไม่ได้เอาสติปัฏฐาน 4 ไปปฏิบัติแต่อย่างใด ท่านเอาพระธรรมที่เป็นเหตุของการได้สติปัฏฐาน 4 มาปฏิบัติ พระธรรมที่เป็นเหตุของทางสายเอกสติปัฏฐาน 4 นี้คือการวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ให้รู้เห็นสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเราในขณะปัจจุบันตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเกิดดับ มีเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราว ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง ว่างจากตนและของตน พิจารณาอย่างนี้เรียกว่าเจริญสติปัฏฐาน 4 ตามแนวทางสายเอก ไม่ใช่เอาสติปัฏฐาน 4 ไปปฏิบัติทันทีอย่างที่เห็นการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันทั่วไปทั้งในวัดและนอกวัด ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดธรรมจึงไม่มีปัญญาดับทุกข์ได้ ได้แต่หลบทุกข์คราวเท่านั้น ที่ปฏิบัติผิดศีลธรรมส่วนมากเพราะขี้เกียจเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และไปปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่เรียนมาไม่จบ จึงถูกสอนผิดเรียนผิดตามกันมา
การดับทุกข์ให้กับตัวเองนั้น ในคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ท่านสอนไว้ 84,000 พระธรรมขันธ์ พระองค์ท่านสอนมนุษย์เทวดาอยู่ถึง 45 พรรษา สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สรุปไว้ว่า พระองค์สอน เรื่องทุกข์กับการดับทุกข์เท่านั้น แล้วพระองค์ก็สอนต่อไปอีกว่า ทุกข์เกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น ทุกข์ของคนเราเกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือที่เรียกว่า อินทรีย์ 6 พระพุทธเจ้าสอนต่อไปอีกว่า เมื่อทุกข์ของคนเราเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้ดับมันที่มันเกิด คือที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะคนเราไม่รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต คนเราจึงไปหลงพอใจ ไม่พอใจ กับสิ่งที่มากระทบสัมผัส ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความพอใจไม่พอใจที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อถูกกระทบสัมผัสนั้นคือ ความพอใจ หมายถึง “โลภะ” ความไม่พอใจหมายถึง “โทสะ” ความรู้ไม่เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสคือ “โมหะ” หรือความหลง ถ้าตาเห็นรูปแล้วพอใจไม่พอใจเกิดขึ้นนั่นหมายความว่า ตัวเราบำเพ็ญ โลภ โกรธ หลง เหตุปัจจโย หรือสมุทัยของทุกข์ทั้งปวงให้กับตัวเองทันที นี่คือคนเราสร้างทุกข์หรือปัญหาให้กับตัวเองสร้างขึ้นที่อินทรีย์ 6 นี่แหล่ะสร้างความหลง หรือความเชื่อหรือความพอใจไม่พอใจ
ถ้าเราจะดับทุกข์ให้กับตัวเอง ต้องเอาความจริงมาดับความเชื่อ ความจริงที่จะดับทุกข์ได้นั้นต้องเป็นความจริงของโลกและชีวิตที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้คือ กฎธรรมชาติ 2 กฎ กฎแรกคือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป) ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ รวมทั้งชีวิตของเราทั้งหมดอยู่ในกฎนี้ นี่คือ ความจริงข้อที่ 1 กฎอันที่ 2 คือ กฎของเหตุและปัจจัยหรือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ รวมทั้งชีวิตของคนเราไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอย ๆ หรือบังเอิญ มีเหตุปัจจัยมาประชุมกันชั่วคราวให้เราเกิดก็เกิด ให้เราตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ให้เราแตกสลายก็แตกสลาย นี่คือความจริงของโลกและชีวิตข้อที่ 2 พระพุทธเจ้าสรุปกฎธรรมชาติ 2 กฎนี้ไว้ว่า “ไม่เที่ยงเกิดดับ” เมื่อรู้ความรู้จริงของโลกและชีวิตว่าสิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยงเกิดดับ แล้วก็เอาความจริงนี้ไปปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ให้รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวของเรา ตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตดังนี้
เริ่มต้นแต่เราตื่นนอนขึ้นมา ก็ให้สติดึงเอาความจริงของโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ 2 กฎนี้ มาตั้งไว้ในใจก่อนว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบตัวเรา ไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราไม่เที่ยงเกิดดับ จากนั้นเมื่อตากระทบกับรูป ให้พิจารณาตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตทันทีว่า รูปที่เห็นไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ หูได้ยินเสียง ให้พิจารณาทันทีว่า เสียงไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ จมูกได้กลิ่น ให้พิจารณาทันทีว่า เสียงไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราไม่เที่ยงเกิดดับ ลิ้นกระทบรส พิจารณาทันทีว่า รสไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ กายกระทบเย็นร้อน ก็พิจารณาว่าสิ่งที่มากระทบสัมผัสทันทีว่าไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวเราก็ไม่เที่ยงเกิดดับ ไปจนถึง ใจคิดนึก ก็พิจารณาทันทีว่าความคิดนึกไม่เที่ยงเกิดดับ ตัวของเราไม่เที่ยงเกิดดับ พิจารณาอย่างนี้จนเป็นปกตินิสัย ในชีวิตประจำวันควบคู่กับการดำเนินชีวิตจนกว่าจะหลับไป ห้ามนั่งจดจ้องหรือกำหนดจิตตามดู สิ่งที่มากระทบ ถูกกระทบเมื่อใดค่อยพิจารณา ไม่ถูกกระทบไม่พิจารณา การกระทำอย่างนี้เรียกว่าการเจริญปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มหาศาล เมื่อมีปัญญาแล้ว ปัญญาก็จะดับความเชื่อหรือความพอใจไม่พอใจทันที นั่นคือสมุทัยของทุกข์ทั้งปวงถูกดับแล้ว ในขณะที่ถูกกระทบสัมผัส ทุกข์หรือปัญหาก็ไม่มีต่อไปอีก
เมื่อเราเอาความจริงของกฎธรรมชาติ 2 กฎที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไว้นี้มาตั้งไว้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เรียกว่า “เอาสัมมาทิฐิหรือปัญญามาตั้งเป็นฐานรับการถูกกระทบสัมผัส” เมื่อมีฐานที่เป็นการเห็นถูกหรือสัมมาทิฐิมาตั้งอย่างนี้ ดำริชอบ สัมมากังกัปปะหรือความคิดถูกก็เกิดขึ้น ต่อไปองค์ธรรมของมรรคมีองค์ 8 ก็เกิดขึ้นครบถ้วนตามมาคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เมื่อมรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้น องค์ธรรมอื่น ๆ เช่นสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปทาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 เกิดขึ้นครบโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ
นี่คือองค์ธรรมของการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน หรือองค์ธรรมของการดับทุกข์ นี่คือการปฏิบัติดับทุกข์ถาวรให้กับตนเองตามทางสายเอกของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสสอนไว้ให้ผู้มีปัญญานำไปปฏิบัติตาม แล้วได้ตรัสรู้ธรรมอย่างเดียวกับพระองค์ท่านที่เรียกว่า พระอรหันต์อัครสาวก ทางสายนี้มีผู้นำไปปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จแล้วมาก มีทั้งเจ้าฟ้าพระมหากษัตริย์ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต คนธรรมดาทั่วไป ในปัจจุบันนี้ถ้าผู้ใดนำไปปฏิบัติถูกต้องอย่างจริงจังแล้วก็จะประสบความสำเร็จ มีปัญญาดับทุกข์ให้กับตัวเองได้ถาวร ภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี อย่างช้า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ นี่คือทางดับทุกข์ที่เป็นทางสายเอกของพระพุทธเจ้าที่ท่านควรศึกษาเรียนรู้ ถ้าท่านต้องการดับทุกข์ให้กับตัวเองอย่างถาวร
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562