การเจริญสติปัญญาที่ถูกต้องทำอย่างไร

Last updated: 13 ต.ค. 2562  |  854 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเจริญสติปัญญาที่ถูกต้องทำอย่างไร

       ตลอดเวลาทีผ่านมาหลายร้อยปี  พวกเราชาวพุทธเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคลาดเคลื่อนมาตลอด  คำว่า  “สติปัญญา”  ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกก็เช่นกัน  จะเห็นว่าการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในประเทศไทย  ได้มีการอบรมสั่งสอนกันมานานให้ชาวพุทธเจริญสติ และปัญญาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้  คือ เอาคำว่าสติไปเจริญ  คือ เราไปฝึกให้เกิดสติรู้เท่าทันอิริยาบถตลอดเวลาที่มีการเคลื่อนไหวหรืออื่น ๆ   เช่น เดินหนอ  ยกหนอ  นั่งหนอ ฯลฯ  เป็นต้น  การเอาสติไปฝึกอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรมผิดธรรม  มีผลออกมาเป็นสมาธิเท่านั้น  ไม่มีปัญญาเกิดขึ้น  เพราะไม่เข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และไม่รู้ความหมายของคำว่าสติ  หรือไม่รู้ธรรมชาติของคำว่า สติ

        สติ  หมายถึง  การระลึกได้  แปลเป็นภาษาคนต่อได้ความว่า  ลากมาหรือดึงมา  สติเป็นธรรมชาติอันหนึ่งมีเฉพาะในตัวคนเท่านั้นที่มีมากไม่ต้องเจริญ หรือไม่ต้องสร้างมันขึ้นมาอีกใด ๆ  ทั้งสิ้น  คนทุกคนมีสติอยู่แล้วมันทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา  ตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาไปจนถึงหลับไป  คือทำหน้าที่ระลึก  ลาก  หรือดึงความจำที่เป็นสัญญาที่เก็บอยู่ในใจ   แล้วแต่ว่าในใจของผู้ใดจะเก็บบวก  หรือลบ  หรือเก็บกุศลหรืออกุศลไว้ในใจมากกว่ากันอันไหนมีมากกว่า  สติจะดึง  ระลึก  หรือลากเอาอันนั้นออกมารับการกระทบสัมผัสจากภายนอก   ถ้ามีลบมากก็ดึงเอาลบออกมารับ  ถ้ามีบวกมากมันก็จะดึงเอาบวกออกมารับแล้วก็จะมีการคิดปรุงแต่งต่อไป  จากนั้นก็จะไปสู่การกระทำ  ผลจะออกมาตามเหตุที่ทำไว้  เช่น  มีเสียงด่ากระทบหู  ถ้าใจเราเก็บเอาอกุศลไว้มากสติก็จะระลึกหรือลากอกุศลออกมารับเสียงด่า  ทำให้เกิดความไม่พอใจแสดงออกมาอาจจะไปทำร้ายคนด่าได้  แต่ถ้าในใจเก็บข้อมูลที่เป็นกุศล (บวก) ไว้มาก  สติก็จะระลึกหรือลากเอากุศลนั้นออกมารับกระทบเสียงด่า  แล้วมองเห็นเสียงด่านั้นเป็นคำตักเตือนทันที   มองเห็นคุณค่าของเสียงด่านั้นได้นี่คือหน้าที่ของสติ  มันทำหน้าที่อย่างนี้  การเจริญสติที่ปฏิบัติกันมานั้นไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องจะต้องเจริญความรู้ที่ดับทุกข์ได้  (หรือปัญญา)  ให้สติระลึกได้หรือลากมาต้อนรับ  การกระทบสัมผัส  เพื่อแก้ไขปัญหาหรือทุกข์ตั้งแต่ที่ถูกกระทบสัมผัสหรือที่มันเกิด  ซึ่งตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่าทุกข์เกิดที่ไหนดับที่นั่น

       ปัญญา  หมายถึง ความรู้ที่ดับทุกข์ได้   

       ความรู้ที่ดับทุกข์ไม่ได้ ไม่ใช่ปัญญาทางธรรมเพียงความรู้หรือรอบรู้เท่านั้น

       ปัญญา  ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หมายถึง พระธรรมในส่วนที่เป็นผล  ไม่ใช่ส่วนที่เป็นเหตุ เอาคำว่าปัญญาไปใช้ดับทุกข์ไม่ได้ จะต้องรู้และเข้าใจต่อไป อีกว่าปัญญาที่เป็นความรู้ที่ดับทุกข์ได้นั้น  มีต้นตอแหล่งกำเนิดหรือเหตุปัจจัยของการเกิดของปัญญาอยู่ที่ไหน

       ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร?  ปัญญาที่เป็นความรู้ที่ดับทุกข์ได้นั้นเกิดจากความจริงที่เป็นความจริงของโลกและชีวิตเท่านั้น ความจริงเป็นแม่เป็นต้นตอของปัญญา

       ความจริงของโลกและชีวิตก็คือ  กฎธรรมชาติ 2 กฎ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  คือ  กฎไตรลักษณ์หรืออนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  หรือเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  และกฎของเหตุและปัจจัยหรือ  อิทัปปัจจยตา  ปฏิจจสมุปบาท  กฎนี้แหละคือต้นตอหรือแม่หรือเป็นเหตุปัจจัยของปัญญา  ปัญญาจะเกิดกับความจริงเท่านั้น  อวิชชาเกิดจากความพอใจ  หรือไม่พอใจ หรือความเชื่อ  ความเชื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัย หรือต้นตอของอวิชชา

       เมื่อเรารู้จักที่มาที่ไปของสติปัญญาแล้วจะเห็น  การปฏิบัติธรรมโดยการเจริญสติปัญญาโดยตรง  อย่างที่มีการสอนการปฏิบัติกันในปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้องตามธรรม  ไม่ถูกเหตุถูกปัจจัย เมื่อรู้เหตุปัจจัยของสติปัญญาแล้ว   การปฏิบัติก็เริ่มเจริญปัญญา  ไม่ต้องเจริญสติเพราะมีอยู่แล้วแต่คนเราขาดปัญญา  จึงจำเป็นต้องเจริญปัญญาดับทุกข์หรือแก้ปัญหา

        การเจริญปัญญาที่ถูกต้อง  ต้องเจริญที่เหตุของการเกิดปัญญา  เหตุปัจจัยของการเกิดปัญญาหรือสัมมาทิฐินั้น คือ  พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้เป็นทางสายเอก  คือ การวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6  ให้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงที่มากระทบสัมผัสตัวเราตามความเป็นจริงของโลก  และชีวิตว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ไม่มีตัวตนเป็นของตนเองเกิดจากเหตุปัจจัยว่างจากตนหรือของตน  

       พิจารณาให้รู้ให้เห็นความจริงอย่างนี้จนเป็นปกตินิสัยในชีวิตประจำวัน และจะมีปัญญาหรือสัมมาทิฐิเกิดขึ้นรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตดับความพอใจ (โลภ)  ไม่พอใจ (โกรธ) ทันที  อย่างนี้เรียกว่า  สัมมาทิฐิ  ปัญญาเกิดขึ้นมรรคมีองค์ 8  เกิดขึ้นองค์ธรรมอื่น ๆ  จะเกิดตามมาจนครบโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ  แล้วมีปัญญาดับทุกข์  หรือแก้ไขปัญหาให้กับตัวเองได้ถาวร

       เมื่อมีปัญญา (รู้จริง รู้แจ้ง)  เกิดขึ้นในใจตลอดเวลาแล้ว  ปัญญาก็จะเข้ามาแทนที่อวิชชา  เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสตัวเรา  สติก็จะระลึกหรือดึกหรือลากเอาความจริงที่เป็นปัญญาที่เก็บอยู่ในใจเป็นสัญญา (ความจำ)  ออกมารับการกระทบสัมผัส  ปัญหาหรือทุกข์ก็จะถูกแก้ไขหรือดับที่มันเกิดทันที  ยกตัวอย่าง เช่น มีเสียงด่ามากระทบหู สติก็จะลากเอาหรือระลึกเอาปัญญาหรือความจริงออกมารับว่า เสียงด่าไม่เที่ยง  ปัญญาจะทำหน้าที่พิจารณาว่าเสียงด่าเกิดดับ  คนด่าก็เกิดดับ  คนถูกด่าก็เกิดดับ  พูดง่าย ๆ  ว่าคนด่าก็ตาย คนถูกด่าก็ตายเช่นกัน  แล้วปัญญาจะสั่งให้ยิ้มให้กับคนด่าทันที  และก็ยิ้มได้ด้วยเพราะหน้ามืดหน้าแดงที่เกิดจากความพอใจ ไม่พอใจ  ถูกดับไปก่อนแล้ว  ปัญหาก็ถูกแก้ไขในทางถูกต้อง  คือ ดับปัญหา ณ ที่เกิดนั้นทันที่ ปัญหาที่เกิดต่อเนื่องต่อไปอีกไม่มี  ถ้าเราไม่ฝึกเจริญความจริงไว้ในใจแล้วก็จะไม่มีปัญญาออกมารับเสียงด่า  สติก็จะลากเอาความเชื่อที่เป็นความพอใจ  ไม่พอใจที่เก็บเป็นอวิชชาอยู่ในใจ  ออกมารับการกระทบเสียงด่า  ความพอใจ  ไม่พอใจก็เกิดขึ้นทำให้เราควบคุมตนเองไม่ได้  อาจจะไปทำร้ายร่างกายคนด่าเข้าให้ ในที่สุดก็ต้องแก้ปัญหาที่สถานีตำรวจหรือที่ศาลหรือที่คุก  ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหรือสิ่งที่คนเราต้องการ

       ความจริงแล้ว  คำว่าสติปัญญาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำตรัสย่อ ๆ  ของพระพุทธเจ้าใช้ตรัสกับพระอริยบุคคล  ตรัสอย่างนี้อริยบุคคลเข้าใจได้  จะเอาค่าสติปัญญาไปปฏิบัติ หรือไปเจริญโดยตรงไม่ได้ ไม่ถูกธรรม  วิธีปฏิบัติหรือเจริญสติปัญญาที่ถูกต้องนั้น ต้องเอาพระธรรมที่เป็นเหตุของการได้ปัญญามาปฏิบัติก่อน  จึงจะมีปัญญาเกิดขึ้นเก็บไว้ในใจตนเป็นปกตินิสัยประจำวันแล้วปัญญาก็จะเข้าไปแทนอวิชชา (ความหลง)  อยู่ในใจของเรา  ใจของเราก็เต็มไปด้วยปัญญา  รู้จริง  รู้แจ้ง  เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัส สติก็จะลาก หรือระลึกเอาปัญญาออกมารับการกระทบแล้วแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้  ขบวนการเจริญสติปัญญาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเต็มรูปแบบทำอย่างนี้

       สรุป การเจริญสติปัญญาที่ถูกต้องตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  จะต้องปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6  ดังกล่าวมาข้างต้น  อย่างนี้เรียกว่าการเจริญสติปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาสติปัญญาไปเจริญโดยตรงอย่างที่ปฏิบัติกันมา ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมผิดธรรม  ไม่มีปัญญาที่จะดับทุกข์ได้  การเจริญสติปัญญา  ก็คือ การวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6  ตามทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั่นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้