Last updated: 13 ต.ค. 2562 | 499 จำนวนผู้เข้าชม |
ความพอใจ ไม่พอใจ สรุปเรียกว่า “อวิชชา” คือความเห็นสิ่งทั้งปวงที่มากระทบสัมผัสตัวเราผิด จึงไม่หลงพอใจพอใจกับสิ่งนั้น ความพอใจ ไม่พอใจเกิดขึ้นได้ 6 ทาง เท่านั้นคือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า “อินทรีย์ 6” ความพอใจ ไม่พอใจ จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่เข้าใจ ไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้บอกทางไว้ให้ ความพอใจเรียกภาษาพระว่า “โลภะ” หรือ “กามสุขัลลิกายุโยค” ซึ่งพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นทางสุดโต่ง และอีกด้านหนึ่ง ความไม่พอใจ เรียกภาษาพระว่า “โทสะ” หรือ “อัตตกิลมถานุโยค” ซึ่งพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นทางสุดโต่งอีกทางหนึ่ง พระองค์ท่านห้ามภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องที่สุดทั้ง 2 ด้านนี้ในพระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
การที่เรารู้ไม่เท่าทันความพอใจหรือไม่พอใจนี้ เรียกว่าความหลง หรือ “โมหะ” ฉะนั้นแล้ว บุคคลใดไม่รู้เท่าทันความพอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัสอินทรีย์ 6 ในขณะปัจจุบันแล้ว บุคคลนั้นบำเพ็ญ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง ให้กับตัวเองตลอดเวลาที่ไม่หลับ ถ้าตรวจสอบตัวเองในขณะที่เราจะทราบว่า ตลอดเวลาตั้งแต่เราตื่นขึ้นมาจนหลับลงไปนั้น คนเราบำเพ็ญความพอใจ ไม่พอใจ หรือ โลภ โกรธ หลง ให้กับตัวเองในทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา คนเราส่วนมากจึงมี โลภะ โทสะ โมหะ ฝังอยู่ในใจของแต่ละคนที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาอย่างแน่นหนา ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เรามีความเคยชินในทางผิดเก็บไว้ในใจตลอดเวลา ที่เรียกว่า อวิชชา
สามารถตรวจสอบตัวเองได้ตลอดเวลาว่าเป็นจริงอย่างที่กล่าวไว้หรือไม่ โดยให้สังเกตตัวเราว่าเวลาอะไรมากระทบสัมผัสอินทรีย์ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา สติของเราระลึกหรือลากอะไรออกมารับการกระทบสัมผัส จะเห็นได้ชัดเจนว่าสติของเราจะลากเอาความเคยชินที่มีมากที่สุดของเราคือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือความพอใจ ไม่พอใจออกมารับการกระทบสัมผัสใจขณะปัจจุบันทุกครั้ง ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่ากรรมเก่า คือความพอใจ ไม่พอใจภายในกับกรรมเก่า คือ ความพอใจ ไม่พอใจภายนอกมากระทบกันแล้วหลอกให้ตัวเราสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีก คือความพอใจ ไม่พอใจใหม่ขึ้นมาอีก เป็นอย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้ คนเราจึงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ รู้แจ้งการดับทุกข์ บอกไว้ว่าคนเราปล่อยให้ความหลง หรืออวิชชากำหนดวิถีชีวิต อวิชชาทำให้เกิดสังขาร สังขารทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทำให้เกิดนามรูป นามรูปทำให้เกิด สฬายตนะ สฬายตนะทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาทำให้เกิดตัณหา ตัณหาทำให้เกิดอุปทาน อุปทานทำให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยทำให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยทำให้เกิดชรามรณะ ชรามรณะเป็นปัจจัยทำให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อมนี่คือหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ สรุปไว้ว่า “สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” นี่คือขบวนการของการสะสมความพอใจหรือไม่พอใจ หรืออวิชชา ให้กับความเคยชินติดแน่นหนาอยู่ในจิตใจมนุษย์ พระพุทธเจ้าท่านเห็นว่า อวิชชา เป็นตัวกำหนดให้เราเวียนว่ายตายเกิด ถ้าดับอวิชชาได้ก็ดับความเกิดได้ เมื่อดับความเกิดได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ไม่มี ดับทุกข์ได้ถาวร
อวิชชาเกิดจากอะไร? อวิชชาเกิดจากไม่รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวเราในขณะปัจจุบัน จึงทำให้ไปหลงพอใจและไม่พอใจสิ่งที่มากระทบสัมผัส นั่นคือ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นแล้ว โลภ โกรธ หลง นี้แหล่ะรากเหง้าของอวิชชาหรือเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมคำสั่งสอน ในเรื่องของการดับทุกข์ไว้ในธรรมจักรกัปปวัตนสูตรว่า หากผู้ใดรู้เท่าทันความเป็นจริงของโลกและชีวิต ในขณะปัจจุบันหรือรู้เท่าทันความพอใจ ไม่พอใจ สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกเกิดขึ้นทันที ต่อจากนั้นก็เกิดองค์ธรรมของมรรคมีองค์ 8 ครบถ้วน ทางนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางดับทุกข์ ดับความพอใจ ไม่พอใจทันทีเมื่อถูกกระทบในขณะปัจจุบัน เมื่อเรารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตแล้วความจริงของโลกและชีวิตนี้ ก็จะเข้าไปแทนความเชื่อที่เป็นความพอใจ ไม่พอใจ เช่น ตา เห็น รูป สติก็จะดึงความจริงของโลกและชีวิตว่าไม่เที่ยง มากั้นความพอใจไม่พอใจตรงผัสสะ กันไม่ให้เลยไปถึงเวทนา พอสติดึงความจริง ๆ ว่าไม่เที่ยงมาแล้ว ความพอใจ ไม่พอใจ ดับทันที ต่อจากนั้นปัญญาที่ตามมากับความจริงว่าไม่เที่ยง ก็จะพิจารณาเหตุปัจจัยของสิ่งที่มากระทบสัมผัสแล้วรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง คือตัวเราและสิ่งที่มากระทบสัมผัสว่าว่างจากตนและของตนคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งหมด ในจิตใจก็โปร่งโล่งไม่มีขยะมาสะสมไว้ เพราะกำจัดทิ้งหมดทันทีที่ถูกกระทบสัมผัส
นี่คือขบวนการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในทางสายเอก คือการวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ให้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงฯ มีปัญญาดับทุกข์ทันทีที่ปฏิบัติอย่างนี้ให้ครบอินทรีย์ 6 แล้วจะมีความจริง และปัญญาเก็บไว้ในใจเหมือนมีสูตรคุณที่พวกเราท่องไว้ในขณะเป็นเด็กแล้วเรายังจำสูตรคูณนั้นได้ วิปัสสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเจริญความจริงไว้ในจิตใจมาก ๆ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นฝังติดแน่นอยู่ในจิตใจของเรา ถ้ามีโจทย์มากระทบสัมผัส สติก็จะดึกเอาปัญญาออกมารับแก้ไขปัญหาทั้งปวง เช่นเดียวกับโจทย์เลขคณิต 7 x 8 มากระทบตา สติจะดึงเอาคำตอบที่ท่องเก็บไว้ในใจออกมาตอบว่า 56 ถูกต้องเลยไม่เชื่อเอา 7 บวกกัน 8 ครั้ง จะเท่ากับ 8 บวกกัน 7 ครั้ง คือ 56
ตัวของเราสิ่งที่มากระทบสัมผัสอินทรีย์ 6 มี 2 อย่างด้วยกันคือ มีทั้งถูกใจและถูกต้องตลอดเวลา ถ้าเรามีปัญญาหรือมีความรู้ที่ดับทุกข์ได้ สติก็จะดึกเอาปัญญามาตอบรับ เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้อง จะทิ้งสิ่งที่ถูกใจทันที ปัญหาหรือทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น ถูกดับทันทีตั้งแต่ถูกกระทบ นี่คือการรู้เท่าทันความพอใจ ไม่พอใจจะมีปัญญาดับทุกข์ได้ถาวร จะเห็นว่าการดับทุกข์หรือแก้ปัญหา ให้กับตัวเองนั้นไม่ยาก ถ้ารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต และรู้วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง นำความจริงมาเพาะให้เกิดปัญญา แล้วให้สติลากหรือดึงมาหรือระลึกได้นำมาแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้ตั้งแต่ถูกกระทบครั้งแรกตั้งแต่ ณ ที่เกิดทันทีที่อินทรีย์ 6 ที่ทุกข์เกิดขึ้นถ้าฝึกตนเอง เจริญความจริงของโลกและชีวิตตลอดเวลา จนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บุคคลนั้นก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาเป็นบุคคลที่ไร้ทุกข์ถาวร
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562