Last updated: 13 ต.ค. 2562 | 872 จำนวนผู้เข้าชม |
ไตรสิกขาในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้สอนให้กับภิกษุวัชชีบุตรนำไปปฏิบัตินั้น มีสาเหตุมาจากพระพุทธเจ้าได้กำหนดธรรมวินัยไว้ในขณะนั้น 150 ข้อ แล้วภิกษุวัชชีบุตรเห็นว่าสิกขามากถึง 150 ข้อ ตนเองไม่สามารถปฏิบัติได้ทั่วถึง จึงได้เข้าพบกับพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ตนเองไม่สามารถปฏิบัติตามสิกขาหรือศีล 150 ข้อ ทั้งหมดนั้นได้ พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุวัชชีบุตรว่า ถ้าเธอปฏิบัติศีลสิบขา 150 ข้อไม่ได้ เธอจะปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้ไหม? ภิกษุวัชชีบุตรบอกว่าถ้า 3 ข้ออย่างนี้ปฏิบัติได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเธอปฏิบัติ 3 ข้อนี้ ได้เท่ากับเธอปฏิบัติสิกขาได้ทั้งหมด 150 ข้อ พระภิกษุวัชชีบุตรจึงได้นำอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไปปฏิบัติแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมา
ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นี่คืออะไร? อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไม่ใช่ คือ สมาธิ ปัญญา อย่างที่ผู้รู้ทั้งหลายแปลหรือให้ความหมายไว้ แล้วนำมาวางเป็นไตรสิกขาให้พระสงฆ์ และฆราวาสปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความหมาย ไม่ตรงกับเป้าหมาย ความหมายที่ถูกต้องเป็นดังนี้
“อธิศีล” คือ ศีลใหญ่ ศีลหลวง มี 4 ข้อ ไม่ฆ่ามนุษย์ ไม่เสพเมถุน ไม่อวดอุตริมนุษยธรรม ไม่ลักทรัพย์เกิน 5 มาสก หรือ 1 บาท ศีล 4 ข้อ ถ้าพระสงฆ์องค์ไหนผิดข้อใดข้อหนึ่ง พระสงฆ์องค์นั้นจะหมดสภาพเป็นพระสงฆ์ทันทีที่ทำผิด เรียกว่า “พระสงฆ์ปาราชิก” พระสงฆ์ที่ผิดศีล 4 ข้อนี้ข้อใดข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นโมฆะบุรุษ เป็นตาลยอดด้วน ถ้าอยู่ในภาพพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าโจรปล้นเขากิน ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานชาตินี้ ไม่สามารถจะบวชเป็นภิกษุต่อไปได้
“อธิจิต” หมายถึง จิตที่ยิ่งใหญ่ คือ จิตที่ไม่ประมาท รู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงที่มากระทบสัมผัสตัวเราตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตว่าสิ่งทั้งปวง ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง เกิดจากเหตุและปัจจัย ว่างจากตนและของตน จนเป็นปกติในชีวิตประจำ ไม่ไปหลงพอใจและไม่พอใจ กับสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวเราในขณะปัจจุบัน อธิจิตไม่ใช่สมาธิ
“อธิปัญญา” หมายถึง ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้เกิดจากการวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ให้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงที่มากระทบ สัมผัสตัวเราในขณะปัจจุบันตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต ความรู้อย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิหรือปัญญา สามารถดับความพอใจและไม่พอใจที่เป็นอวิชชาได้ทันทีเรียกว่า อธิปัญญา ปัญญาที่ยิ่งใหญ่
อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นไตรสิกขาของพระภิกษุสงฆ์ หรือ ข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ไม่ใช่ฆราวาส
ไตรสิกขาสำหรับฆราวาสนั้น พระพุทธเจ้าได้วางเป็นหลักข้อปฏิบัติไว้ว่า ทาน ศีล วิปัสสนาภาวนา เพื่อให้ชาวพุทธที่เป็นฆราวาสใช้เป็นข้อปฏิบัติฝึกฝนตนเองเป็นลำดับ ๆ ไปในที่สุด ให้ชาวพุทธมีปัญญาแก้ปัญหาชีวิตหรือดับทุกข์ให้กับตนเองได้ ต่อมาไม่รู้เมื่อใด ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักไตรสิกขาของฆราวาส ตัดเอาคำว่าวิปัสสนาออกไปเหลือเป็น ทาน ศีล ภาวนา วางเป็นหลักให้ฆราวาสปฏิบัติ การกระทำในลักษณะนี้มองได้ 2 แง่ แง่ที่หนึ่งไม่รู้ไม่เข้าใจคำสอน เพราะอ่านหรือศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่จบ 84,000 พระธรรมขันธ์ ทำให้เข้าใจผิดได้ อีกแง่หนึ่งมีเจตนาไม่ดี จงใจจะบิดเบือนคำสอนให้ผิดเพี้ยนไป เพื่อทำลายพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนให้ปุถุชนคนธรรมดาเริ่มต้นการ ปฏิบัติธรรมให้กับตนเองเป็นชั้น ๆ เรียงลำดับไว้ว่า ก่อนอื่นก็ให้ทานก่อนเพื่อลดความเห็นแก่ตัวลงไปบ้าง แล้วรักษาศีลคือไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตนเองแล้วให้วิปัสสนาภาวนาเจริญปัญญาตามหลักทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเป็นทางดับทุกข์ได้ นั่นคือการพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ให้รู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงที่มากระทบสัมผัสตัวเรา ในขณะปัจจุบันตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้น จะทำให้คนเราไม่ไปหลงพอใจหรือไม่พอใจ ต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวเราในขณะปัจจุบัน แล้วมีปัญญาดับทุกข์ได้
พระพุทธเจ้าวางหลัก ทาน ศีล วิปัสสนาภาวนา ไว้ให้ชาวพุทธนำไปปฏิบัติเป้าหมายของพระองค์ท่านคือ ให้ชาวพุทธมีปัญญา แก้ปัญหาของชีวิตหรือดับทุกข์ได้ ไม่ใช่ไปหลบทุกข์ ถ้าเอา ทาน ศีล ภาวนา ที่สรุปอย่างนี้ไปปฏิบัติ ก็จะไปหลงทำสมาธิ แล้วไม่มีปัญญาดับทุกข์ได้ ได้แต่หลบทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น ผิดธรรมวินัยของชาวพุทธ ถ้าเป็นชาวพุทธแท้ต้องดับทุกข์ได้ เพราะพระพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลกสอนทางดับทุกข์ไว้ให้ชัดเจน สามารถเอาไปปฏิบัติให้ผลได้ในชาตินี้ ภายใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี บรรลุมรรคผลนิพพานดับทุกข์ถาวรได้ ต่อไปผู้จะปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้จบก่อนแล้วค่อยปฏิบัติ จะได้รู้ว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์อันใดเป็นเหตุเป็นผลของการปฏิบัติแล้ว พระองค์ท่านสอนผู้ใด สอนพระอริยบุคคลหรือบุคคลทั่วไป พระองค์ท่านสอนสรุปเป็นคำย่อ ถ้าเป็นคำย่อคำเต็มว่าอย่างไร ต้องรู้ต้องเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่านอย่างนี้ จึงจะนำไปปฏิบัติแล้วไม่ผิดธรรม จะได้ผลออกมาตามที่เราต้องการคือ ดับทุกข์ได้ ถ้าไม่เข้าใจคำสอนถึงขั้นนี้แล้ว โอกาสที่จะปฏิบัติถูกธรรมมีปัญญาดับทุกข์ได้นั้นไม่มีเลย เก่งที่สุดก็แค่หลบทุกข์อยู่ชั่วคราวเท่านั้น ผลักดันตนเองจากชาวพุทธไปเป็นพราหมณ์ด้วยความพอใจหรือความรู้ ในที่สุดไปติดตาข่ายมารดักไว้ที่ความสงบ หมดโอกาสที่จะปลดตนเองออกจากตาข่ายของมารได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารนี้นับชาติไม่ถ้วน เสียเวลาที่เกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งซึ่งเขาส่งมาเกิดให้ดับทุกข์ให้กับตนเอง โอกาสอย่างนี้หาไม่ได้ง่าย ๆ
สรุป อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา หรือศึกษา 3 ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่เข้าใจกันมาก่อนแต่อย่างใด
อธิศีล หมายถึง ศีลหลวง คือศีล 4 ข้อ (ไม่ฆ่ามนุษย์ ไม่เสพเมถุน ไม่อวดอุตริมนุษยธรรม ไม่ลักทรัพย์เกิน 5 มาสก หรือ 1 บาท)
“อธิจิต” หมายถึง จิตที่ยิ่งใหญ่ คือ จิตที่ไม่ประมาท รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวเราในขณะปัจจุบันตามความจริงของโลกและชีวิต
“อธิปัญญา” หมายถึง ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ นั่นคือ สัมมาทิฐิ ที่เกิดจากการวิปัสสนาภาวนาพิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6 ตามทางสายเอกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นี่คือไตรสิกขาของพระภิกษุสงฆ์และไตรสิกขาสำหรับฆราวาสหรืออุบาสก อุบาสิกา คือ ทาน ศีล วิปัสสนาภาวนา นี่คือไตรสิกขาที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วมีปัญญาแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้ถาวร
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562
30 ก.ย. 2562