ความคิดเห็นของคนเราคืออะไร

Last updated: 13 ต.ค. 2562  |  692 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความคิดเห็นของคนเราคืออะไร

       ความคิดเห็นของคนเรา  เป็นเรื่องของนามธรรมหรือ จิตใจ  ไม่สามารถดูด้วยตาได้  

ใจของเรามีหน้าที่อยู่ 4 อย่าง คือ  

รับ (เวทนา)  จำ (สัญญา) คิด (สังขาร)  รู้ (วิญญาณ) 

      เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสอินทรีย์ 6  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  จิตใจ ก็จะทำหน้าที่รับ  จำ  คิด  รู้  อย่างนี้เกิดขึ้นทั้ง 6 ทาง แล้วประมวลข้อมูลที่ถูกกระทบสัมผัสทั้งหมด เป็นความพอใจและไม่พอใจเข้าไปเก็บไว้ในจิตใจ หรือ Hard disk ใจของคนเรานี้มีลักษณะที่ถมไม่เต็มเก็บข้อมูลได้หาที่สิ้นสุดไม่  ในใจของคนทุกคนจึงมีข้อมูลการเวียนว่ายตายเกิดมานับชาติไม่ถ้วนฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก

      ฉะนั้น ความคิดเห็นของคนเรา  ก็คือผลกรรม หรือการกระทำของเราในอดีตที่ผ่านมา  มีทั้งอดีตใกล้อดีตไกล  ผ่านเข้ามาทาง ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ แล้วเอามาเก็บไว้ในใจ  พูดง่าย ๆ  ก็คือบุญบาปที่เกิดจากการกระทำของเราในอดีตและปัจจุบันตัวของเราทั้งหมดนี้ คือ  ผลของอดีต  เมื่อมีอะไรมากระทบอินทรีย์ 6 ทุกครั้ง  ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์ ทั้งหมดคือ  ผลของการกระทำของเราในอดีตและปัจจุบัน  มีทั้งเป็นสิ่งที่ดีและไม่ดีมากระทบสัมผัสตัวเรา  ข้อมูลที่อยู่ในใจของเราก็จะออกมารับการกระทบแล้วปรุงแต่งต่อไป ทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ  และเกิดขึ้นตลอดเวลา  แล้วนำไปสู่การกระทำต่อไปทำให้เกิดความพอใจ  ไม่พอใจ  และเกิดขึ้นตลอดเวลา  แล้วนำไปสู่การกระทำต่อไปในทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  มีผลเป็นบุญเป็นบาป เกิดขึ้นต่อไปอีกอย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้  วนเวียนอยู่อย่างนี้  ข้อมูลใหม่ก็เก็บไว้ในจิตใจต่อไป

     สิ่งที่มากระทบสัมผัสอินทรีย์ 6 (ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ)  ของแต่ละคนนั้นคือ  ผลรวมของการกระทำในอดีตของเรานั่นเองตามมาให้ผล  จะเห็นว่าพวกเราแต่ละคนในแต่ละครั้งได้รับการกระทบสัมผัสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  เพราะผลการกระทำที่เรียกว่ากรรมนั้นแตกต่างกัน  จึงได้รับผลกระทบแตกต่างกันในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน  พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “กรรมหรือ  การกระทำนั้น  จำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน  ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเองมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์”  กรรมหรือการกระทำ  ทำให้คนเรามีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกัน  ความคิดนึกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน  เพราะข้อมูลที่สั่งสมไว้ในจิตใจแตกต่างกัน เช่น  บางครั้งจะเห็นว่าเมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสเหมือนกัน  บางคนพอใจ  บางคนไม่พอใจ  กับสิ่งที่มากระทบตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น

       กรรม หรือ การกระทำ ของคนเราที่กระทำลงไปนั้นแต่ละครั้ง  มีผลออกมาเป็น บุญและบาป  แล้วเก็บไว้ในจิตใจ  ในจิตใต้สำนึกของเราทุกคนจะมีผลการกระทำที่เป็นบุญเป็นบาปแล้วเก็บมากมายจนนับไม่ได้  เพราะเราเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน  บุญบาปที่เป็นผลของกรรมหรือการกระทำของเรานี้ เป็นผู้กำหนดจิตใจของคนเราแต่ละคน  ความคิดนึกของคนเราแต่ละครั้งจะถูกแรงผลักดันที่เป็นบาปนี้ ผลักดันออกมาแล้วแต่ว่าช่วงไหน  จังหวะไหนถ้าบุญมีมากกว่าในขณะนั้นบุญก็ผลักดันให้เราคิด  แต่ถ้าช่วงไหนบาปมีพลังมากกว่า  บาปก็ผลักดันออกมาเป็นความคิดนึกของเรา  บุญและบาปที่เราทำไว้นอกจากจะเป็นแรงผลักดันให้คนเราคิดนึกแล้ว  ยังมีผลที่เป็นบุญเป็นบาปมาในรูปของ  อายตนะภายนอก คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์  มากระทบสัมผัสเพื่อให้ผล  ถ้าเป็นส่วนของบุญ  สิ่งที่มากระทบสัมผัสก็เป็นสิ่งไม่ดีงามทำให้เราไม่พอใจอย่างนี้เป็นต้น  มากระทบตัวเราตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย  ในวิธีชีวิตของคนเราบุญบาปก็จะเข้ามากระทบสัมผัสตัวของเราดังที่กล่าวมาแล้ว

       สรุป  ความคิดนึกของคนเราทุกคน  ก็คือ  ความเคยชินที่เป็นบุญเป็นบาป  ที่ได้มาจากความพอใจหรือไม่พอใจ  เมื่อถูกกระทบสัมผัสได้สั่งสมไว้ในใจ  โดยการกระทำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาปรับแต่งเป็นความคิดที่เรียกว่าสังขาร  ความคิดของคนเราจะเกิดจากข้อมูลเก่าที่เรียกว่า สัญญา (ความจำ)  ที่เป็นบุญเป็นบาปที่เก็บไว้ในใจ  เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสกับ  อินทรีย์ 6  ข้อมูลเก่าที่เก็บไว้ในใจก็จะออกมารับแล้วปรับแต่งต่อไป  มีผลออกมาเป็นความพอใจ และไม่พอใจทุกครั้ง  เป็นกรรมใหม่เกิดขึ้นสะสมต่อไปวนเวียนอยู่อย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้  และถ้าไม่พบทางดับทุกข์ที่เป็นทางสายเอก  ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ทุกลมหายใจ

      พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ว่า  ถ้าบุคคลใดไม่มีปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตที่มาสัมผัสกับตัวของเราตลอดเวลาแล้วก็จะไปหลงพอใจ  หรือไม่พอใจกับสิ่งที่มากระทบสัมผัสตัวเราตามผลของกรรมที่เราได้กระทำไว้  จากนั้นก็เอาความพอใจและไม่พอใจนั้น  ไปคิดปรุงแต่งต่อไปแล้วถ่ายทอดไปสู่การกระทำต่อไปอีก  ผลก็จะออกมาเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่มีผลเป็นบุญเป็นบาปเก็บเพิ่มเติมไว้ในใจของคนเราต่อไปอีกหาที่สิ้นสุดไม่ได้  วนเวียนอยู่อย่างนี้  ความพอใจหรือไม่พอใจนั้น  คือ  ความหลงหรือเรียกว่า อวิชชา  ต้นเหตุหรือสมุทัยของทุกข์ทั้งปวง

      พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านพบทางดับทุกข์  แล้วตรัสแสดงบอกทางดับทุกข์ไว้ให้  ท่านบอกไว้ว่าทุกข์เกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น  ทุกข์เกิดที่อินทรีย์ 6  คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  นี่แหล่ะชีวิตที่มากระทบสัมผัสตัวเองแล้วไปหลงพอใจไม่พอใจกับสิ่งเหล่านั้น  จึงทำให้เกิดทุกข์  ถ้าต้องการดับทุกข์  ก็ให้ฝึกฝนตนเองตามทางสายเอกที่พระพุทธองค์ตรัสบอกไว้คือ  การวิปัสสนาภาวนา  พิจารณาขันธ์ 5 และอินทรีย์ 6  ให้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต  ในขณะปัจจุบันว่าไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง เกิดจากเหตุและปัจจัย  ให้พิจารณาอย่างนี้แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบสัมผัส กับตัวของเราตามความจริงของโลกและชีวิต  แล้วความพอใจ หรือไม่พอใจ คือ ความหลง  หรืออวิชชา ก็ไม่เกิดขึ้นมา  นำความคิดของเราไปสู่การกระทำ   ต่อไปความพอใจและไม่พอใจ  ก็ไม่มีเหตุปัจจัยเพิ่มเติมให้เกิดขึ้นมาอีก  เมื่อเหตุปัจจัยหมดแล้ว  ความทุกข์ก็หมดไม่เกิดขึ้นมาอีก เรียกว่าดับทุกข์พบสุขถาวร  ตามที่ชีวิตของทุกคนต้องการ  และตั้งเป้าหมายไว้ในการเกิดมาเป็นคน  ผู้นั้นก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ไม่มีปัญหามารบกวนจิตใจอีก
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้