Last updated: 14 มิ.ย. 2563 | 3413 จำนวนผู้เข้าชม |
พราหมณ์ กับ พุทธ แตกต่างกันอย่างไร?
ในปัจจุบันหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว โดยชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงทำให้ชาวพุทธเข้าใจหลักพุทธศาสนาที่แท้จริงผิดพลาดไปหมด แล้วก็มีการปฏิบัติที่ผิดพลาดตามไปด้วย จึงทำให้ชาวพุทธไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า คือกลายเป็นว่า ชาวพุทธนั้นมีแต่ชื่อว่าเป็นพุทธ แต่การปฏิบัติกลับกลายเป็นพราหมณ์กันไปหมดโดยไม่รู้ตัว และยังยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือปฏิบัติอยู่นี้ คือ คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าอีกด้วย อีกทั้งเมื่อมีผู้นำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาบอกกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อที่ผสมหรือปลอมปนกับพราหมณ์อยู่ จึงทำให้ชาวพุทธไม่ยอมรับ แถมบางคนยังต่อต้านอีกด้วย ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจว่าพุทธแท้ ๆ นั้นสอนว่าอย่างไร? และพราหมณ์เขาสอนอย่างไร? บทความนี้จึงได้สรุปหลักของพุทธกับพราหมณ์ที่แตกต่างกันเอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะได้ศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อศาสนาทั้งสองอย่างถูกต้องต่อไป
๑. เรื่องสิ่งสูงสุด
ศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) เป็นศาสนาประเภทเทวนิยมคือเคารพ ยอมรับเรื่องเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด โดยเทพเจ้า ๓ องค์ ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพสูงสุดอันได้แก่
๑. พระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้าง หรือให้กำเนิดทุกสิ่งในจักรวาลขึ้นมา
๒. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องรักษา
๓. พระอิศวร หรือพระศิวะ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย
เทพเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้รวมเรียกว่า ตรีมูรติ ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ชาวฮินดูยังนับถือเทพเจ้ารอง ๆ ลงมาอีกมากประมาณ ๓๐๐ ล้างองค์
ศาสนาพุทธ จะสอนว่า สิ่งสูงสุดในโลกและในจักรวาล ที่คอยควบคุมและดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปก็คือ ธรรมชาติ ที่แสดงออกมาในลักษณะของกฎของธรรมชาติที่ชื่อว่า กฎอิทัปปัจจยตา (คือกฎที่มีใจความสรุปว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น”)
๒. เรื่องการกำเนิดชีวิต
ศาสนาพราหมณ์ จะสอนว่า โลกและทุกชีวิตเกิดมาจากพระพรหมเป็นผู้สร้างขึ้นมา และคอยควบคุมอยู่ (พรหมลิขิต) ส่วนพระนารายณ์จะเป็นผู้คอยปกป้องรักษา (โดยการอวตารลงมาเป็นเป็นมนุษย์ เช่น เป็นพระรามเพื่อฆ่ายักษ์ที่คอยทำร้ายมนุษย์ หรือเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อสอนมนุษย์ผิด ๆ เพื่อให้มนุษย์ตกนรกกันมาก ๆ เพราะสวรรค์เต็มหมดแล้ว เป็นต้น) ส่วนพระอิศวรจะเป็นผู้ทำลาย
ศาสนาพุทธ จะสอนว่า โลกนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยมีธาตุ ๔ เป็นพื้นฐาน คือ ๑. ธาตุดิน (ของแข็ง) ๒. ธาตุน้ำ (ของเหลว) ๓. ธาตุไฟ (ความร้อน) ๔. ธาตุลม (อากาศ) โดยธาตุทั้ง ๔ นี้จะปรุงแต่งกันทำให้เกิดเป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยวัตถุสิ่งของทั้งหลายนี้จะอาศัยธาตุว่าง (สุญญากาศ) ตั้งอยู่ และธาตุทั้ง ๔ นี้ยังปรุงแต่งให้เกิดวัตถุที่แสนมหัศจรรย์ (คือ ร่างกายของมนุษย์ สัตว์ และพืช) ขึ้นมาอีกด้วย โดยวัตถุที่แสนมหัศจรรย์นี้ก็จะปรุงแต่ง หรือทำให้เกิดมีธาตุที่พิเศษสุดขึ้นมาอีก นั่นก็คือ ธาตุรู้ (หรือธาตุวิญญาณ) ซึ่งธาตุรู้นี้เองที่ทำให้ร่างกายและระบบประสาทต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์ สัตว์ และพืช เกิดการรับรู้และรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของธรรมชาติได้ และสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดก็คือ มนุษย์นั้นจะมีเนื้อสมองพิเศษที่สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่รับรู้และรู้สึกมาได้เป็นอย่างดี จึงทำให้มนุษย์นั้นมีความทรงจำมาก และการคิดนึกปรุงแต่งได้มาก และสลับซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จนเกิดเป็นสิ่งที่สมมติเรียกกันว่า "จิต" หรือ "ใจ" ขึ้นมา
๓. เรื่องของจิต (หรือวิญญาณ)
ศาสนาพราหมณ์ จะสอนว่า จิต (หรือวิญญาณ) ของมนุษย์และสัตว์นี้เป็น อัตตา (ตัวตนที่เป็นอมตะ คือจะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร) ที่แยกออกมาจากปรมาตมันหรือพรหม แล้วก็จะเวียนว่ายตาย-ในทางร่างกายเกิดเพื่อรับผลกรรมของตัวเอง จนกว่าจะบำเพ็ญตบะเพื่อชำระล้างกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตได้ จิตก็จะบริสุทธิ์และกลับไปรวมกับปรมาตมันหรือพรหมดังเดิม และมีความสุขอยู่ชั่วนิรันดร
ศาสนาพุทธ จะสอนว่า จิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้เป็น อนัตตา (คือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น จึงไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง และก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง หรือไม่เป็นอมตะ รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย) ที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย ที่ยังเป็น ๆ อยู่เท่านั้น เมื่อจิตนี้มีเจตนาดี ก็จะทำดี แล้วก็จะเกิดความสุขใจ อิ่มใจขึ้นมาทันที (ที่สมมติเรียกว่าเป็นเทวดาที่กำลังอยู่บนสวรรค์) แต่ถ้าจิตนี้มีเจตนาชั่ว ก็จะทำชั่ว แล้วก็จะเกิดความทุกข์ใจ เสียใจขึ้นมาทันที (ที่สมมติเรียกว่าเป็นสัตว์นรกที่กำลังอยู่ในนรก) ซึ่งอาการนี้เรียกว่าการเวียนว่ายตาย-เกิดในทางจิตใจ จนกว่าเมื่อใดที่จิตนี้จะหลุดพ้นจากความดีและชั่ว จิตก็จะบริสุทธิ์และไม่เกิดเป็นอะไร ๆ (ตามที่สมมติเรียกกัน) อีกต่อไป ซึ่งสภาวะนี้เรียกว่า นิพพาน ที่หมายถึง ความไม่มีทุกข์ หรือความสงบเย็นของจิตใจ
3 ต.ค. 2562
3 ต.ค. 2562
3 ต.ค. 2562
3 ต.ค. 2562